ข้อสอบ GAT1 กุมภาพันธ์ 2562

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

บทความที่ 1 – พิษภัยของการบริโภคอาหารรสเค็ม

ผู้ที่สนใจดูแลรักษาสุขภาพตนเองคงสังเกตเห็นว่าในสื่อหลายแหล่ง ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ ได้ให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารรสเค็มซึ่งมีโซเดียมสูงว่าทำให้เกิดโรคได้หลายโรค ขณะเขียนบทความนี้ สื่อของเครือข่ายลดบริโภคเค็มกำลังเสนอให้เก็บภาษีความเค็มจากอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ที่มีความเค็มสูงและกรมสรรพสามิตก็กำลังพิจารณาว่าจะเก็บภาษีความเค็มหรือไม่อย่างไร

แหล่งโซเดียมสำคัญที่สุดที่เข้าสู่ร่างกายด้วยการบริโภคก็คือ เกลือ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบได้กับเกลือ 5 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ได้รับโซเดียมเกินกว่าสองเท่าของปริมาณที่ควรได้รับ โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความสมดุลของความเป็นกรดด่างและปริมาณน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในภาวะปกติโซเดียมส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำส่วนที่อยู่นอกเซลล์และในเลือดส่วนที่เรียกว่า พลาสมา เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปก็จะดึงน้ำออกจากเซลล์มาคั่งอยู่นอกเซลล์และคั่งในหลอดเลือด ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและโซเดียมในอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ไตก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการขับโซเดียมออกจากร่างกาย ดังนั้นการบริโภคอาหารรสเค็มจัดจึงทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองและโรคไต เป็นต้น

ในการประชุมพิจารณามาตรการการควบคุมโซเดียมในอาหารเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การอนามัยโลก มีข้อมูลว่าคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 21.4 หรือ 11.5 ล้านคน โรคไตร้อยละ 17.5 หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 1.4 หรือ 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 1.1 หรือ 0.5 ล้านคน โดยโรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องของประชาชนที่ชื่นชอบอาหารรสชาติเค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง

เมื่อทราบถึงพิษภัยของการบริโภคอาหารรสเค็ม ก็ควรหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น จากข้อมูลของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรกคือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรมนั้น ล้วนแต่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160 – 1,420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,430 – 1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 420 – 490 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักของคนไทย มากกว่าร้อยละ 30 จะซื้อกินนอกบ้านทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น ข้าราชการ นักเรียน นิสิตนักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างทั่วไป และมากกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลซื้ออาหารกลางวันนอกบ้าน อาหารที่รับประทานบ่อยในแต่ละวันได้แก่ ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว และอาหารตามสั่ง

ขณะนี้องค์กรหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ทำการรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็มกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารในหมู่ประชาชนจำนวนไม่น้อย ได้แก่ ปรับเปลี่ยนนิสัยให้กินอาหารจืดลง รับประทานอาหารสดตามธรรมชาติ ชิมอาหารก่อนเติมเครื่องปรุงรส ปรุงอาหารโดยเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสต่างๆ ให้น้อยที่สุด เพื่อให้คุ้นเคยกับอาหารรสจืด หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เช่น ปลาเค็ม หมูเค็ม เนื้อเค็ม เบคอน ไส้กรอก ลดหรือเลิกการใส่ผงชูรสในอาหาร เพราะผงชูรสก็คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต หากใส่มากและบ่อยเกินไปร่างกายจะได้รับโซเดียมมาก ไม่กินอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปที่มีเกลือปริมาณมาก

การรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็มของภาคส่วนต่างๆ นอกจากทำให้พฤติกรรมการกินอาหารเค็มเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ยังทำให้อาหารหลายอย่างมีการปรับปรุงสูตร ตัวอย่างเช่น ซอสปรุงรสลดโซเดียม น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ น้ำมะเขือเทศดอยคำสูตรโซเดียมต่ำ ปลาร้าลดโซเดียม นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อเพื่อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ออกมาตรการลดปริมาณโซเดียมลงร้อยละ 10 ในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อภายในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นอาหารใกล้ตัวและเป็นที่นิยมอย่างมากนั้น ในแต่ละซองประกอบด้วยผงปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยถึง 1,500 – 2,000 มิลลิกรัมซึ่งเกือบเท่าหรือเท่ากับปริมาณทั้งหมดที่ควรบริโภคในแต่ละวัน ขณะเขียนบทความนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 23,000 คน

พฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอาหารสูตรโซเดียมต่ำหรือสูตรลดโซเดียมดังตัวอย่างที่กล่าวมา จะสามารถป้องกันหรือลดโรคทั้งหลายที่เกิดจากการบริโภคอาหารรสเค็มได้ ดังนั้นนักเรียน นิสิตนักศึกษาซึ่งจะเป็นกำลังสาคัญในการพัฒนาประเทศชาติ จึงควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องในการบริโภคอาหาร ทั้งนี้นอกจากลดเค็ม ยังต้องลดหวาน ลดมัน และควรให้ความรู้แก่พ่อแม่ตลอดจนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงด้วย

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การบริโภคอาหารรสเค็ม
02 การรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็ม
03 ความดันโลหิตสูง
04 น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ
05 ปรับเปลี่ยนนิสัยให้กินอาหารจืดลง
06 ปลาร้าลดโซเดียม
07 โรคไต
08 โรคหัวใจขาดเลือด
09 หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม
10 อาหารหลายอย่างมีการปรับปรุงสูตร

บทความที่ 2 – ธนาคารปูม้า

ช่วงหยุดยาวเสาร์อาทิตย์ต่อเนื่องวันรัฐธรรมนูญ เพื่อนชวนผู้เขียนไปเที่ยวระยองและจันทบุรี ขณะนั่งกินปูม้านึ่งที่แสนอร่อย เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้มีปูม้ากินตลอดทั้งปีเพราะมีธนาคารปูม้า ด้วยความสนใจจึงหาข้อมูลเพิ่มเติมจนได้ความรู้เรื่องธนาคารปูม้าจากสื่อหลายรายการมาเล่าสู่กันฟัง เช่น จากรายการเดินหน้าประเทศไทย กบนอกกะลา และรายการไปตามฝัน

ปัจจุบันมีธนาคารปูม้าอยู่หลายร้อยแห่งตามจังหวัดที่อยู่ริมทะเล ตัวอย่างที่จะกล่าวในบทความนี้เป็นกิจกรรมของธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในพระราชดำริซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

หลายปีก่อนหน้านี้จำนวนปูม้าในทะเลลดลงอย่างมาก ชาวประมงต้องออกเรือไปไกลกว่าเดิมเพื่อจับปลามาทดแทน บ้างก็เลิกทำประมงไปหางานอื่นทำ สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลงมีหลายประการ ที่สำคัญคือ จับปูม้าจำนวนมากเกินไป โดยทั่วไปชาวประมงชายฝั่งจะใช้ลอบสำหรับดักปูวางไว้หลายๆ จุดในทะเลหรือจับปูโดยใช้อวนขนาดเล็ก แต่เมื่อปูม้าเป็นที่นิยมและราคาสูงขึ้นก็จับปูกันอย่างมากมายโดยใช้เครื่องมือทำประมงทุกรูปแบบ บางท้องที่เจออวนลากอวนรุนของเรือประมงขนาดใหญ่ชาวประมงชายฝั่งก็แทบหมดทางทำมาหากิน เมื่อจับปูกันมากเช่นนี้การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติก็ย่อมไม่ทันกับจำนวนที่ถูกจับไป นอกจากจะจับปูไปเป็นจำนวนมาก ยังมีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ตัดวงจนการขยายพันธุ์ของปูม้า เนื่องจากชาวประมงไม่ได้แยกแยะว่าปูที่จับได้นั้นมีขนาดเล็กเกินไปหรือไม่ หรือว่าเป็นปูไข่ที่กำลังจะขยายพันธุ์

ในปัจจุบันชุมชนชาวประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำหนดกติการ่วมกันว่าจะไม่จับปูกันอย่างไม่บันยะบันยัง จะช่วยกันดูแลไม่ให้เรือประมงขนาดใหญ่ที่ใช้อวนลากหรืออวนรุนซึ่งผิดกฎหมายเข้ามาจับสัตว์น้ำในเขตประมงชายฝั่ง ตาข่ายของอวนหรือลอบที่ใช้จับปูจะต้องมีตาขนาดใหญ่เพื่อไม่ให้ติดปูที่มีขนาดเล็ก และหากมีปูขนาดเล็กติดมาในอวนหรือในลอบดักปูก็จะปล่อยลงทะเลเพื่อให้มีโอกาสเติบโตและขยายพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ชาวประมงพื้นบ้านตกลงกันว่า ถ้าปูที่มีขนาดต่ำกว่า 8 เซนติเมตรจะปล่อยกลับลงสู่ทะเล และปีต่อไปจะเพิ่มเป็น 10 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงที่สำคัญคือ หากจับได้ปูไข่ที่มีไข่ออกมาอยู่นอกกระดองก็จะรวบรวมไข่ปูไปส่งให้ธนาคารปูม้าเพื่อทำการเพาะพันธุ์ปูม้าต่อไป ความร่วมมือของชุมชนชาวประมงดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุทั้งสองประการที่ทำให้จานวนปูม้าลดลงได้เป็นอย่างดี และทำให้ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น

งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีหลายอย่าง กิจกรรมของธนาคารปูม้าเป็นงานส่วนหนึ่งของศูนย์นี้โดยมีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบริเวณหาดเจ้าหลาว อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามชัย อำเภอนายายอามให้ความร่วมมือ เมื่อชาวประมงจับปูมาได้ก็จะแยกปูม้าที่มีไข่ติดอยู่นอกกระดองออกมา ชาวประมงจะใช้แปรงขนนิ่มช่วยกันเขี่ยไข่ปูลงไปในถังน้ำ แล้วรวบรวมไปส่งให้ธนาคารปูม้า หลังจากนั้นจะเทไข่ปูลงไปในถังเพาะฟักซึ่งมีอยู่หลายถังเชื่อมต่อกันและมีระบบเติมน้ำหมุนเวียน เมื่อไข่ปูฟักเป็นตัว ลูกปูจะว่ายน้ำขึ้นมาหาแสงที่ด้านบนซึ่งมีท่อน้ำล้นให้ลูกปูไหลลงไปในสวิง แล้วรวบรวมลูกปูใส่ถังน้ำเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำที่เหมาะสม

ธนาคารปูม้ามีข้อมูลว่า ปูไข่นอกกระดองหนึ่งตัวจะมีไข่ประมาณ 300,000 ถึง 700,000 ฟอง จะเหลือรอดได้เป็นปูประมาณร้อยละ 1 คือประมาณ 3,000 – 7,000 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว ดังนั้นกิจกรรมของธนาคารปูม้าจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น

นอกจากการดำเนินกิจกรรมของธนาคารปูม้า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังได้ดำเนินงานอีกหลายอย่างที่เป็นการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลบริเวณพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ ดังนั้นงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จึงสามารถแก้ไขหรือลดปัญหาอีกสองประการที่เป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลง ประการแรกคือ แก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเลทั้งหลายรวมทั้งปูม้า และอีกประการหนึ่งคือ แก้ปัญหาแหล่งน้ำบริเวณป่าชายเลนเน่าเสียซึ่งทำให้ตัวอ่อนของสัตว์ทะเลเติบโตได้ยากหรือตายไป ดังนั้นงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ที่นอกเหนือจากงานธนาคารปูม้า จึงเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นเนื่องจากปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปู ครอบครัวของชาวประมงยังมีงานทำที่สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยจากการต้มหรือนึ่งปูและแกะเนื้อปูขายให้นักท่องเที่ยงรับประทาน

งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในพระราชดาริ ได้ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มจำนวนปูม้าอย่างมีประสิทธิผล เป็นต้นแบบของธนาคารปูม้าในท้องที่ต่างๆ และช่วยให้ทรัพยากรจากท้องทะเลคืนความอุดมสมบูรณ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การบุกรุกทำลายป่าชายเลน
12 กิจกรรมของธนาคารปูม้า
13 ความร่วมมือของชุมชนชาวประมง
14 งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ
15 จับปูม้าจำนวนมากเกินไป
16 ชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น
17 ตัดวงจนการขยายพันธุ์ของปูม้า
18 ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น
19 สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลง
20 แหล่งน้ำบริเวณป่าชายเลนเน่าเสีย

เฉลย

บทความที่ 1 – พิษภัยของการบริโภคอาหารรสเค็ม

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การบริโภคอาหารรสเค็ม 03A 07A 08A
02 การรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็ม 05A 09A 10A
03 ความดันโลหิตสูง 99H
04 น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ 03F 07F 08F
05 ปรับเปลี่ยนนิสัยให้กินอาหารจืดลง 03F 07F 08F
06 ปลาร้าลดโซเดียม 03F 07F 08F
07 โรคไต 99H
08 โรคหัวใจขาดเลือด 99H
09 หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม 03F 07F 08F
10 อาหารหลายอย่างมีการปรับปรุงสูตร 04D 06D

บทความที่ 2 – ธนาคารปูม้า

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การบุกรุกทำลายป่าชายเลน 99H
12 กิจกรรมของธนาคารปูม้า 18A
13 ความร่วมมือของชุมชนชาวประมง 15F 17F 18A
14 งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ 11F 12D 18A 20F
15 จับปูม้าจำนวนมากเกินไป 99H
16 ชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น 99H
17 ตัดวงจนการขยายพันธุ์ของปูม้า 99H
18 ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น 16A
19 สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลง 11D 15D 17D 20D
20 แหล่งน้ำบริเวณป่าชายเลนเน่าเสีย 99H

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress