ข้อสอบ GAT1 มีนาคม 2560

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

บทความที่ 1 – ทฤษฎีใหม่…หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศหลั่งน้ำตาด้วยความโศกเศร้า ด้วยความอาลัย และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงงานหนักเป็นอย่างยิ่งเพื่อพสกนิกร พระองค์ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมากมายเหลือคณานับ หนึ่งในนั้นที่จะอัญเชิญมาเผยแพร่ในบทความนี้คือ การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ ซึ่งสรุปจากบทความวิชาการบนเว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา และจากวีดิทัศน์บนเว็บไซต์บ้านสวนพอเพียง โดยมีสาระสำคัญดังนี้

เกษตรกรในประเทศส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีที่ดินทำกินเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 15 ไร่ ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่อันดับแรกก็คือ ปัญหาขาดแคลนนาทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ถัดมาคือ สามารถเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน เพราะเมื่อไม่มีน้ำจากระบบชลประทานมาช่วยก็ต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว ปีใดฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง พืชผลก็จะยิ่งเสียหาย ปัญหาแต่ละอย่างนี้เองที่ทำให้เกษตรกรอยู่ในภาวะไม่พออยู่พอกิน และภาวะตกเป็นหนี้สินเพราะต้องไปกู้ยืมเงินมาเป็นค่ากินอยู่ ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าปุ๋ยค่ายากำจัดศัตรูพืช ปีใดไม่ได้ผลผลิตหรือได้น้อย หนี้สินก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว พระราชดำรินี้ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อใช้ทำการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ตัวเลขร้อยละ 30, 30, 30 และ 10 เป็นแนวทางในการแบ่งสัดส่วนพื้นที่

การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วยการแบ่งที่ดินที่เกษตรกรมีอยู่ออกเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ประโยชน์ดังนี้ ส่วนแรกขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง ตัวเลขร้อยละที่กล่าวในที่นี้จะเป็นตัวเลขโดยประมาณ หากอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่สามารถนำมาเติมสระได้ก็อาจใช้พื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 30 เช่น ถ้ามีที่ดินอยู่ 15 ไร่ อาจใช้พื้นที่ส่วนนี้ 3 ไร่ ขุดสระลึกประมาณ 4 เมตร และจุน้ำได้ประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำปริมาณนี้เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งและใช้เลี้ยงปลา สำหรับพื้นที่ส่วนที่สองและสาม กำหนดให้ใช้พื้นที่ทำนาร้อยละ 30 และปลูกพืชร้อยละ 30 พื้นที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 ประมาณ 2 ไร่ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ เช่น ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน

การใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วยทฤษฎีใหม่ดังกล่าวนี้ก่อนที่จะทรงเผยแพร่ พระองค์ทรงศึกษาคำนวณและทดลองปฏิบัติจนแน่พระทัย เช่น พื้นที่ทำนาหรือเพาะปลูกพืช จะใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าพื้นที่ส่วนนี้มี 10 ไร่ก็ต้องใช้น้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตร สระขนาดดังกล่าวข้างต้นซึ่งจุน้ำได้ 19,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อคำนวณการสูญเสียน้ำจากการระเหยและอื่นๆ จะเหลือเพียงพอกับการทำนา และปลูกพืชต่างๆ ในฤดูแล้ง ดังนั้นการขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง ย่อมสามารถแก้หรือลดปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่ได้ทั้งสองประการ และเมื่อดูภาพรวมทั้งหมดของการใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนต่างๆ จะเห็นว่าการทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่จะทำให้เกษตรกรมีอาหารพอกินตลอดปีทั้งครอบครัวได้ รวมทั้งจะมีรายได้จากผลิตผลที่เหลือจากการบริโภค ผลทั้งสองประการนี้ย่อมสามารถลดภาวะไม่พออยู่พอกินและภาวะตกเป็นหนี้เป็นสินได้อย่างแน่นอน ดังที่เกษตรกรหลายครอบครัวได้น้อมนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

พื้นที่ที่เป็นต้นแบบของทฤษฎีใหม่คือ ที่ดินในอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี พื้นที่ทั้งสองแห่งนี้เป็นผลการดำเนินการเกษตรทฤษฏีใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะและความตั้งพระทัยมั่นของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากใครได้มีโอกาสชมวีดิทัศน์เรื่องทฤษฏีใหม่บนเว็บไซต์บ้านสวนพอเพียงซึ่งเผยแพร่ผ่านทาง Youtube จะเห็นได้ว่ากว่าพระองค์จะเสด็จไปถึงแปลงทดลองในที่ดินอำเภอเขาวงนั้น ต้องทรงผจญกับการเดินทางที่ยากลำบาก ผ่านทางเกวียนที่ขรุขระจนรถยนต์พระที่นั่งแกว่งไปมา แล้วต้องเสด็จพระราชดำเนินต่อด้วยพระบาทผ่านเส้นทางที่แคบ คดเคี้ยว ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ นับเป็นเส้นทางทรงงานที่ลำบากมาก

เป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า 20 ปี ความสำเร็จของโครงการทฤษฎีใหม่ที่เขาวงนี้ชี้ให้เห็นว่าในหลวงทรงวางรากฐานการเกษตรไว้อย่างเป็นระบบเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ดังนั้นทฤษฎีใหม่ขั้นต้นดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ เมื่อเกษตรกรเข้าใจและลงมือปฏิบัติจนได้ผลแล้ว เพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็ควรดำเนินการต่อไปตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองและสาม จะได้พัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนเกิดเป็นความสุขที่ยั่งยืนดังพระประสงค์ของในหลวงที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่
02 ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร
03 ขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง
04 ใช้พื้นที่ทำนาร้อยละ 30 และปลูกพืชร้อยละ 30
05 ตกเป็นหนี้เป็นสิน
06 ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่
07 เพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน
08 มีรายได้จากผลิตผลที่เหลือจากการบริโภค
09 มีอาหารพอกินตลอดปีทั้งครอบครัว
10 ไม่พออยู่พอกิน

บทความที่ 2 – อาหารริมทางภัยใกล้ตัว…


ช่วงกลางปีที่แล้ว สำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับเมืองที่มี Street Food หรืออาหารริมทางดีที่สุดในโลกว่ามี 23 เมือง โดยกรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก เมืองที่ได้รับการจัดอันดับรองๆลงไป ได้แก่ โตเกียวของญี่ปุ่น ฮอนโนลูลูของฮาวาย เดอบานของอัฟริกาใต้ เป็นต้น ส่วนเมืองที่ได้อันดับที่ 23 คือ ปักกิ่งของจีน

นอกจากผู้เขียนบทความ ชาวกรุงเทพฯ และคนไทยหลายคนคงปลื้มใจกับข่าวนี้ แต่เมื่อได้อ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอาหารริมทางในกรุงเทพฯ เรื่อง “ตีแผ่ด้านมืด…สตรีทฟู้ดเมืองกรุง” ในโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งสัมภาษณ์อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการด้านโภชนา กับ ดร. วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมื่อได้ฟังการสัมภาษณ์อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายการแชร์เล่าข่าวเด็ด สถานีวิทยุ FM 100.5 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560 ทำให้ผู้เขียนบทความรู้สึกตกใจและกังวลเรื่องสุขภาพอนามัยของคนกรุงและนักท่องเที่ยว จึงขอสรุปสาระสำคัญมาให้อ่านกัน

ด้วยลักษณะเด่นของอาหารริมทางในกรุงเทพฯ คือรสชาติอร่อยราคาไม่แพง และมีให้เลือกหลากหลายทั้งกลางวันกลางคืน จึงทำให้เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว ตลอดจนคนไทยจำนวนมาก และทำให้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก ซึ่งถือเป็นด้านบวก แต่ในทางกลับกันอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กลับไม่หลงใหลได้ปลื้มกับข่าวนี้ เพราะห่วงเรื่องสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สง่าบางตอน

“…ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เรื่องสุขภาพอนามัย สาเหตุสำคัญที่สุดคือ เจ้าของร้านผู้สัมผัสอาหารและผู้ปรุงอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดงจะต้องล้างผักให้สะอาดก่อน 2-3 น้้า เพราะผักบุ้งมีสารปนเปื้อนเยอะ บางร้านเอาปลากระป๋องหมดอายุมาผัด บางร้านก็เอาเด็กลูกจ้างมาเสิร์ฟโดยไม่เคยฝึกเลยว่าเวลาจับแก้วน้ำ ไม่ควรจับปากแก้ว บางร้านมีน้้าแค่กะละมังเดียวใช้ล้างจานเป็นร้อยใบ ผู้บริโภคก็มักง่าย กินอะไรก็ได้ที่มันใกล้ตัวที่มันอร่อยโดยไม่เลือกร้าน ไม่สนว่าร้านนี้จะใช้ผ้าขี้ริ้วกับผ้าเช็ดเขียงผืนเดียวกัน ยอมให้คนขายข้าวมันไก่ใช้มือเปล่าหยิบชิ้นไก่โปะลงบนข้าว แล้วใช้มือข้างเดียวกันนั้นหยิบเงินทอนให้ลูกค้า ร้านก๋วยเตี๋ยวหลายร้านมีน้้ำแค่ถังเดียว ไม่มีก๊อกน้้าต่อสายมาลงถัง พอเรากินเสร็จก็เอาชาม ตะเกียบ ช้อนไปจุ่มๆในถัง แล้วไปใส่ก๋วยเตี๋ยวให้คนอื่นกินต่อ…”

จะเห็นว่าสาเหตุที่มาของปัญหาด้านลบ ก็คือคนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ หรืออาจเป็นความมักง่ายของคนขายอาหาร ปัญหาด้านลบมีอะไรบ้าง อันดับแรกหากใครใส่ใจสังเกตบ้างก็จะเห็นชัดคือ ภาชนะใส่อาหารสกปรก นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นอีกดังที่อาจารย์สง่ากล่าวว่า

“…อีกอย่างคือ อาหารริมทางที่ปรุงไม่ถูกสุขอนามัย อาจเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง เชื้อโรค หรือพยาธิในลาบก้อยสุกๆ ดิบๆ ผลร้ายที่จะเกิดขึ้นอันดับแรกคือ ท้องร่วง ต่อมาคือ โรคทางเดินอาหารติดเชื้อ เช่น อาหารเป็นพิษ โรคมะเร็งจากโลหะหนักปนเปื้อนในผักที่ล้างไม่ดี ไหนจะโรคอ้วนเพราะอาหารริมทางส่วนใหญ่เป็นพวกผัดกับทอด มันระยับเลย เช่น ไก่ทอด หมูทอด ผัดซีอิ้ว ผัดไทย ผัดกระเพรา รวมทั้งอาหารรสเค็มจากการใส่ผงชูรสและเครื่องปรุงที่มีโซเดียมมากๆ นำไปสู่ความดันโลหิตสูง”

ดังนั้นปัญหาถัดมาซึ่งร้ายขึ้นไปอีกขั้นก็คือ อาหารมีเชื้อโรคและพยาธิปะปน มีสารพิษและสารก่อมะเร็งในอาหาร และเป็นอาหารที่อาจนำไปสู่โรคหลายโรค เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของปัญหาดังกล่าวอาจไม่ใช่แค่ว่าคนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะและความมักง่ายของคนขายอาหารเท่านั้น เขาอาจจะมีความรู้ แต่สถานที่และสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกในการปรุงและการขายอาหารไม่พร้อม ทำให้ดูว่าเขามักง่าย หากมีการให้ความรู้และจัดที่ทางให้เหมาะสม สภาพการณ์คงดีขึ้นดังที่ ดร. วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า

“…ผู้ค้าอาหารริมทางก็ไม่ต่างจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอื่นๆ ที่ตั้งร้านเกะกะกีดขวางบนทางเท้า และที่หนักกว่าเพื่อนก็คือ มีการปรุงอาหาร ตั้งวางเตา หม้อก๋วยเตี๋ยว กระทะ และเตาร้อนๆ บนทางเท้า ประชาชนที่ผ่านไปมาต้องเสี่ยงอันตราย ครั้นจะลงไปเดินบนถนนก็เสี่ยงถูกรถชน ผลสำหรับอาหารริมทางที่ดีคือ ไปรวมเป็นสัดเป็นส่วนเหมือนตลาดโต้รุ่ง โดยเช่าเจ้าของที่ดินที่เขามีที่ทิ้งขยะ มีห้องน้้าห้องท่า มีที่ล้างชาม มีก๊อกน้ำครบครัน…”

ปัญหาด้านลบดังกล่าวข้างต้นย่อมลดหรือทำลายสิ่งที่เราภูมิใจ ทั้งการที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลกในด้านอาหารริมทาง รวมทั้งการที่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว ดังนั้นผู้ค้าอาหารริมทางทั้งหลายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง

ในขณะที่สาเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ที่จำเป็นต้องฝากท้องหลายมื้อไว้กับอาหารริมทาง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์สง่า

“ต้องมีความรู้และทักษะในการเลือกร้าน สังเกตจากตัวร้านว่าน่าไว้ใจได้ เช่น ช้อนส้อมจานชามล้างสะอาด วางเป็นระเบียบ คนขายสวมผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุมศีรษะ โต๊ะเก้าอี้ เครื่องปรุงวางดูดี ไม่มีผ้าขี้ริ้วดำปิ๊ดปี๋ ฯลฯ”

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 คนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ
12 ความมักง่ายของคนขายอาหาร
13 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก
14 เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว
15 ภาชนะใส่อาหารสกปรก
16 มีสารพิษและสารก่อมะเร็งในอาหาร
17 มีให้เลือกหลากหลายทั้งกลางวันกลางคืน
18 รสชาติอร่อยราคาไม่แพง
19 อาหารมีเชื้อโรคและพยาธิ
20 อาหารริมทางในกรุงเทพฯ

เฉลย

บทความที่ 1 – ทฤษฎีใหม่…หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ 03D 04D 08A 09A
02 ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร 05A 10A
03 ขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง 02F 07F
04 ใช้พื้นที่ทำนาร้อยละ 30 และปลูกพืชร้อยละ 30 99H
05 ตกเป็นหนี้เป็นสิน 99H
06 ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่ 02D 07D
07 เพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน 05A 10A
08 มีรายได้จากผลิตผลที่เหลือจากการบริโภค 05F 10F
09 มีอาหารพอกินตลอดปีทั้งครอบครัว 05F 10F
10 ไม่พออยู่พอกิน 99H

บทความที่ 2 – อาหารริมทางภัยใกล้ตัว…

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 คนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ 15A 16A 19A
12 ความมักง่ายของคนขายอาหาร 15A 16A 19A
13 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก 99H
14 เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว 99H
15 ภาชนะใส่อาหารสกปรก 13F 14F
16 มีสารพิษและสารก่อมะเร็งในอาหาร 13F 14F
17 มีให้เลือกหลากหลายทั้งกลางวันกลางคืน 13A 14A
18 รสชาติอร่อยราคาไม่แพง 13A 14A
19 อาหารมีเชื้อโรคและพยาธิ 13F 14F
20 อาหารริมทางในกรุงเทพฯ 17D 18D

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress