ข้อสอบ GAT1 เมษายน 2557

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

บทความที่ 1 – ปฏิรูปประเทศไทย

ขณะที่เขียนบทความนี้คือช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 บ้านเมืองก้าลังตกอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองคงทราบดีว่า เรื่องราวเป็นมาอย่างไร แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อขัดแย้งสำคัญ ฝ่ายรัฐบาลรักษาการต้องการให้เลือกตั้งก่อนปฏิรูป ส่วนฝ่าย กปปส. ซึ่งมีชื่อเต็มยาวมาก คือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องการให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

ที่จริงเรื่องการปฏิรูปประเทศมีการพูดถึงและพยายามดำเนินการมาหลายปี เมื่อกลางปีที่แล้วก็มีการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2556 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีการพิจารณาและมีมติรวม 7 เรื่อง ในบทความนี้จะสรุปสาระสำคัญบางประการของเรื่องแรก คือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยสรุปจากเอกสารหลักและมติของการประชุม

การทุจริต หรือที่เรียกกันติดปากว่าคอร์รัปชันนั้น องค์กรความโปร่งใสสากลจำแนกรูปแบบของการคอร์รัปชันของภาครัฐไว้น่าสนใจ กล่าวคือ การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ ถ้าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป จัดเป็นการคอร์รัปชันขนาดเล็ก การยักยอกคือการที่เจ้าหน้าที่นำเงินหรือสิ่งของราชการมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน การมีผลประโยชน์ทับซ้อน คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม การอุปถัมภ์และการเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นการเล่นพวกโดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม ส่วนการติดสินบนเป็นการเสนอหรือการให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย

ปรากฏว่าการคอร์รัปชันที่จำแนกไว้โดยองค์กรความโปร่งใสสากล พบได้ในบ้านครบถ้วนทั้ง 7 รูปแบบ ภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยในสายตาของต่างชาติอยู่ในระดับที่ย่ำแย่มาก ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่องค์กร Transparency International จัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ระหว่าง 2.8-3.8 จากคะแนนเต็ม 10 มาโดยตลอด มหาวิทยาลัยหอการค้าสำรวจความคิดเห็นประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในปี พ.ศ. 2555 พบว่านับวันสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้อยละ 85.9 ตอบว่าต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ข้าราชการ โดยต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะร้อยละ 30-35 ของวงเงินงบประมาณโครงการ

เมื่อศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในแง่มุมต่างๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาเพียงบางส่วน สมัชชาปฏิรูปฯ จึงมีมติเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน 5 มาตรการดังนี้

ให้ใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามทุจริตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยระบุวิธีการไว้ชัดเจน คือให้จัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยให้สนับสนุนการดำเนินการในด้านต่างๆ รวมทั้งงบประมาณ

ใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เช่น ตรวจสอบความสุจริตของการประเมินภาษี และเปิดเผยแบบแสดงรายงานการเสียภาษีเงินได้ห้าปีย้อนหลังของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการระดับสูง

ปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริตของชาติอย่างเร่งด่วน เช่น ให้ ป.ป.ช. ปฏิรูปกระบวนการทำงานทั้งระบบอย่างจริงจัง ให้สนับสนุนกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนเหตุทุจริต ให้พัฒนาระบบงานด้านสินบนนำจับอย่างเป็นรูปธรรม

เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเพื่อสังคมสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้โดยง่าย เช่น ข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการที่มีวงเงินหนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้ภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการ มาตรการข้อนี้แหละจะช่วยลดปัญหาการจ่ายเงินใต้โต๊ะดังกล่าวข้างต้นลงได้มาก

มาตรการสุดท้ายคือให้ปฏิรูปกระบวนการคัดสรรบุคคลผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่งให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น กระบวนการสรรหา แต่งตั้ง และโยกย้ายข้าราชการระดับสูง

มาตรการทั้ง 5 ข้อที่สมัชชาปฏิรูปมีมติออกมานี้ จะช่วยป้องกันรูปแบบการคอร์รัปชันทุกรูปแบบที่องค์กรโปร่งใสสากลจำแนกไว้ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิผล

ปัญหาความขัดแข้งทางการเมืองในขณะนี้ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร การปฏิรูปประเทศก็คงจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่สมัชชาปฏิรูประดับชาติสรุปไว้ครั้งที่ 3 นี้รวมทั้งสองครั้งก่อน ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การคอร์รัปชันขนาดเล็ก
02 การคอร์รัปชันที่จำแนกไว้
03 การติดสินบน
04 การมีผลประโยชน์ทับซ้อน
05 จ่ายเงินใต้โต๊ะร้อยละ 30-35
06 ใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีอากร
07 ปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริต
08 เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
09 มติเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน
10 ให้ใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหลัก

บทความที่ 2 – ปัญหาเรื่องข้าว

นอกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินเพราะรัฐบาลรักษาการไม่ได้เตรียมเงินกู้ไว้ก่อนที่จะยุบสภา ทั้งๆ ที่โครงการนี้ขาดทุนหลายแสนล้าน ที่จริงปัญหาเรื่องข้าวมีมานานหลายสิบปีแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศขายข้าวเปลือกได้ในราคาต่ำ ต้องตกเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ บ้างถึงกับต้องขายที่นาแล้วเช่าที่ทำกิน การค้าข้าวในตลาดโลกที่ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดมานาน ก็ต้องเสียแชมป์ให้อินเดียและเวียดนามไปแล้วสองปีซ้อน ส่วนตลาดข้าวในอาเซียนนั้น เวียดนามชนะไทยมาตั้งแต่ปี 2548

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญข้าวหลายคน ได้วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวแต่ละปัญหาไว้อย่างครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งออก ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเฉพาะจุด คือเน้นการแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำด้วยวิธีการรับจำนำ หรือชดเชย หรือประกันราคาข้าวเท่านั้น บทความนี้จะสรุปสาระสำคัญจากเอกสารที่เกี่ยวข้องของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นายปราโมทย์ วานิชานนท์ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ว่ามองปัญหาในภาพรวมทั้งระบบอย่างไร

ปัญหาข้าวไทยมีหลายอย่าง ถ้ามองตั้งแต่แต่ต้นทางก็คือการปลูกข้าว ปรากฏว่าผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญก็คือเวียดนาม เช่น ช่วงปี พ.ศ. 2552-2553 เราผลิตได้เฉลี่ย 454.4 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่เวียดนามทำได้ 803.2 กิโลกรัมต่อไร่ เพราะรัฐบาลเวียดนามทุ่มงบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปีในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มปริมาณการผลิต โดยพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ เราจำเป็นต้องวิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี รวมทั้งพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นอกจากปริมาณผลผลิต ปัญหาสำคัญต่อมาคือต้นทุนการผลิตของเราสูง ได้แก่ ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช ค่าเช่าเครื่องจักร เช่น รถไถนา และค่าแรงงาน เป็นต้น ส่วนต้นทุนการผลิตของเวียดนามนั้นต่ำกว่าไทย เนื่องจากยังคงใช้แรงงานคนในครัวเรือนเป็นหลัก การใช้ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชก็ยังมีปริมาณน้อยกว่าชาวนาไทยมาก

ปัจจุบันมีระบบชลประทานอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพียงประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกข้าว ส่วนอีกร้อยละ 70 ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ในขณะที่เวียดนามมีระบบชลประทานกระจายอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกมากถึงร้อยละ 50 ดังนั้นปัญหาเรื่องข้าวเราอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด

เมื่อมองต่อจากปัญหาการผลิตไปจนถึงการส่งออก ก็พบว่าปัญหาใหญ่ของเราอีกประการหนึ่งก็คือ ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้จากราคาข้าวสารชนิด 5% ในปี พ.ศ.2550 ราคาส่งออกของเวียดนามต่ำกว่าไทยอยู่เพียง 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน แต่ในปี 2552 เวียดนามต่ำกว่าไทยถึง 169 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้เวียดนามสามารถแย่งตลาดข้าวจากไทยได้ ถ้าเราหันกลับมาเน้นกลยุทธ์ทางการตลาดข้าวที่ผู้ซื้อนิยมบริโภค เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งผู้บริโภคพร้อมจัดซื้อในราคาที่แพงกว่าข้าวทั่วไป ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องการแข่งขันราคาข้าวได้ ประเด็นเรื่องการค้าข้าวในตลาดโลกนี้ ท้าให้มองเห็นไปถึงปัญหาข้าวไทยอีกข้อหนึ่งคือ เราขาดการสร้างตราสินค้าข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศว่าข้าวไทยมีสายพันธุ์ที่ดีอยู่มากมาย

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างบางประการของปัญหาข้าวไทย ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาได้เสนอไปบ้างแล้ว เช่น การวิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ ที่จะเพิ่มเติมก็คือปัญหาต้นทุนการผลิตสูง
ดังกล่าวไว้นั้นจะแก้ไขอย่างไร เมื่อรู้ว่าต้นทุนเรามีหลายอย่าง ทั้งค่าปุ๋ยเคมี ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช ค่าเช่าเครื่องจักร เช่น รถไถนา และค่าแรงงาน เป็นต้น ก็ต้องแก้ไขโดยลดต้นทุนให้ตรงจุด ได้แก่ รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรชาวนากว้างขวางขึ้น และจัดหาเครื่องจักรให้กลุ่มเกษตรกรใช้ร่วมกัน ไม่ต้องต่างคนต่างซื้อหาหรือหาเช่ามาใช้เอง เป็นต้น

รัฐบาลชุดต่อไปตลอดจนหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาเรื่องข้าวไทยอย่างจริงจัง ให้ข้าวไทยกลับมาเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ ดังเช่นในอดีต ให้คนไทยได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพ และที่สำคัญคือให้ชาวนาไทย ผู้ทนลำบากตรากตรำผลิตข้าวเพื่อชาวไทยและชาวโลกจำนวนมากสามารถลืมตาอ้าปากได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ้นจากความทุกข์ยากที่ได้รับมาช้านาน และอย่าลืมคำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน”

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช
12 จัดหาเครื่องจักรกลุ่มเกษตรกร
13 ต้นทุนการผลิตสูง
14 แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว
15 ปัญหาข้าวไทย
16 ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
17 รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น
18 ระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด
19 ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
20 วิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว

เฉลย

บทความที่ 1 – ปฏิรูปประเทศไทย

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การคอร์รัปชันขนาดเล็ก 99H
02 การคอร์รัปชันที่จำแนกไว้ 01D 03D 04D
03 การติดสินบน 99H
04 การมีผลประโยชน์ทับซ้อน 99H
05 จ่ายเงินใต้โต๊ะร้อยละ 30-35 99H
06 ใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีอากร 01F 03F 04F
07 ปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริต 01F 03F 04F
08 เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ 01F 03F 04F 05F
09 มติเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน 06D 07D 08D 10D
10 ให้ใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหลัก 01F 03F 04F

บทความที่ 2 – ปัญหาเรื่องข้าว

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช 99H
12 จัดหาเครื่องจักรกลุ่มเกษตรกร 13F
13 ต้นทุนการผลิตสูง 11D
14 แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว 12D 17D 20D
15 ปัญหาข้าวไทย 13D 16D 18D 19D
16 ผลผลิตต่อไร่ต่ำ 99H
17 รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น 13F
18 ระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด 99H
19 ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 99H
20 วิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว 16F

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress