ข้อสอบ GAT1 กุมภาพันธ์ 2561

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

บทความที่ 1 – น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ช่วงก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สื่อต่างๆ ได้นำเสนอโครงการในพระราชดำริมากมายหลายโครงการ ผู้เขียนเลือกเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการหลวงมานำเสนอในบทความนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ภาคเหนือของประเทศไทยมีภูมิประเทศเป็นภูเขาหรือดอยจำนวนมาก มีชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่เป็นแห่งๆ ระหว่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนชาวเขาหลายแห่ง ทรงพบว่า ชาวเขาส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ยากจนข้นแค้น วิถีการดำเนินชีวิตของชาวเขาก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ปัญหาการปลูกฝิ่น เพราะฝิ่นสามารถปลูกได้ดีบนดอยที่มีอากาศหนาวเย็น จึงเป็นแหล่งของการแพร่ระบาดยาเสพติด ปัญหาถัดมาคือ การทำไร่เลื่อนลอยเพื่อปลูกข้าวไร่และข้าวโพด เมื่อสภาพดินเสื่อมโทรมก็แผ้วถางป่าย้ายที่ทำไร่ไปเรื่อยๆ และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือป่าต้นน้ำถูกทำลาย ทรงมีพระราชดำริว่าจะต้องหาทางให้ชาวเขาได้ปลูกพืชอย่างอื่นแทนการปลูกฝิ่น ให้มีรายได้พอสมควร และได้อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง หลังจากที่ทรงศึกษาหาข้อมูลและให้ทดลองปฏิบัติเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแล้ว จึงทรงตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับเงินสมทบจากมิตรประเทศเป็นทุนดำเนินงาน และทรงให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้อำนวยการโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2535 ทรงให้เปลี่ยนสถานภาพของโครงการ ตั้งเป็นมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อให้เป็นองค์กรการกุศลที่ถาวร

หลักการและการดำเนินงานของโครงการหลวงมีหลายอย่าง หลักการสำคัญที่ทรงให้นำมาใช้ คือ ช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ ไม่ใช่ช่วยโดยการให้ข้าวของเงินทองไปเรื่อยๆ เพราะให้เท่าไหร่ก็คงไม่พอและไม่มีที่สิ้นสุด ดังพระราชดารัสที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานไว้ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”

สำหรับการดำเนินงานของโครงการหลวงจะมีพื้นฐานมาจากศึกษา วิจัย และพัฒนา โดยมุ่งศึกษาไม้ดอกและพืชผักเขตหนาว การเลี้ยงสัตว์และทำประมง ตลอดจนงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สูงของประเทศไทย การดำเนินงานที่สำคัญของโครงการหลวง ได้แก่ ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกและพืชผักเขตหนาว พัฒนาการเลี้ยงสัตว์และประมง และทำการตลาดอย่างครบวงจร

การส่งเสริมการปลูกไม้ดอกและพืชผักเขตหนาวในโครงการหลวงแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันตามผลการวิจัยว่าพื้นที่บนดอยแห่งใดเหมาะสมกับการปลูกพืชผักผลไม้ชนิดใด งานการวิจัยประกอบด้วย สถานีวิจัยจำนวน 4 แห่ง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีก 38 แห่ง และเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทรงให้ตั้งโครงการหลวงแห่งที่ 39 ขึ้นที่บ้านเลอตอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก พืชผักผลไม้ของโครงการหลวงมีหลากหลายมาก เช่น สตรอว์เบอร์รี พีช กีวีฟรุต เสาวรส กาแฟอาราบิก้า กะหล่่ำปลีรูปหัวใจ เบบี้ฮ่องเต้ ยอดชาโยเต้ ว่านสี่ทิศ ไฮเดรนเยีย บีโกเนีย สับปะรดสี

สำหรับการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์และประมง ในระยะแรกได้พระราชทานสัตว์เลี้ยงพันธุ์ดี เช่น กระบือ สุกร ไก่ และแกะ ให้ชาวเขาหลายหมู่บ้านนำไปเลี้ยง ระยะหลังโครงการหลวงได้รับการสนับสนุนสัตว์เลี้ยงพันธุ์ดีจากหน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จึงมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายพันธุ์ เช่น ไก่เบรส สุกรพันธุ์เปียแตรง สุกรพันธุ์เหมยซาน กวาง แพะนม ควายนม และกระต่ายพันธุ์เนื้อ และเมื่อทางโครงการได้ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ การทำประมงก็ดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากสัตว์น้ำที่เลี้ยงกันทั่วไป ยังสามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่มีราคาสูงได้ด้วย เช่น ปูขน ปลาเรนโบว์เทร้าต์ และปลาสะเตอร์เจี้ยน ซึ่งนิยมนำไข่มาทำคาร์เวีย

การดำเนินการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของโครงการ คือ ทำการตลาดอย่างครบวงจรโดยควบคุมและประกันคุณภาพผลผลิตในระดับมาตรฐานสากลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การคัดเลือกและการบรรจุผลผลิตตลอดจนการขนส่งและการกระจายสินค้าไปสู่ตลาด ผลผลิตที่ได้บางส่วนจะใช้บริโภคในครัวเรือนและวางขายในตลาดท้องถิ่น ผลผลิตส่วนใหญ่จะขายผ่านระบบการตลาดของโครงการหลวงและบางส่วนจะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือนำมาแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์ดอกไม้แห้ง น้ำเสาวรส น้ำมะเขือเทศ น้ำพีช สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง และแคนตาลูปอบแห้ง

การดำเนินงานของโครงการหลวงดังกล่าว ยังผลให้ชาวเขามีงานทำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีและมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างสุขสบายพอสมควร ผลทั้งสองประการนี้จึงสามารถระงับยับยั้งปัญหาที่เกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเขาดังกล่าวในตอนต้นได้อย่างยั่งยืน

เรื่องโครงการหลวงที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีอยู่มากมายถึงราว 4,500 โครงการ โครงการหลวงมิใช่ “ช่วยชาวเขา” ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยัง “ช่วยชาวเรา” และ “ช่วยชาวโลก” ด้วย คือ ช่วยลดปัญหายาเสพติด ยับยั้งการทำลายป่าต้นน้ำ และถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงให้นานาประเทศนำไปประยุกต์ใช้

“ปวงพสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ตราบนิจนิรันดร์”

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การทำไร่เลื่อนลอย
02 ช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้
03 ทำการตลาดอย่างครบวงจร
04 ปัญหาการปลูกฝิ่น
05 ป่าต้นน้ำถูกทำลาย
06 พัฒนาการเลี้ยงสัตว์และประมง
07 มีงานทำอย่างสม่ำเสมอ
08 มีรายได้เพียงพอ
09 ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกและพืชผักเขตหนาว
10 หลักการและการดำเนินงานของโครงการหลวง

บทความที่ 2 – แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9

พระราชกรณียกิจนานัปการ ตลอดจนแนวทางในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตรพระราชทานไว้ในแผ่นดินนี้ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการในพระราชดำริประมาน 4,500 โครงการ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้พสกนิกรของพระองค์หลายคน หลายกลุ่ม และหลายชุมชนนำไปปฏิบัติ จนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ดังตัวอย่างที่สรุปจากรายการ The insider ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560 และจากเวปไซต์ baanwin.com อันเป็นเรื่องของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเป็นพนักงานบริษัทในเมืองกรุงไปเป็นเกษตรกรเต็มรูปแบบที่ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
คุณปราณี สังอ่อนดี ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เล่าว่า ได้แต่งงานกับคุณสมโชค เบ้าทอง และเดินทางจากบ้านเกิดไปทางานเป็นพนักงานบริษัทที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2548 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2550 มีลูกชาย คือ เด็กชายชนะพล เบ้าทอง หรือน้องวิน ก็เริ่มคิดถึงอนาคตว่าจะทนอยู่ในคอนโดมีเนียมเล็กๆ ที่เช่าอยู่ หรือจะกู้เงินซื้อบ้านที่กรุงเทพฯ แล้วทำงานเป็นลูกจ้างต่อไป แต่เมื่อนึกถึงที่ดินซึ่งได้รับจากพ่อแม่ก็นึกถึงแนวปฏิบัติและตัวอย่างในการพลิกฟื้นผืนดินให้อุดมสมบูรณ์ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ จึงตัดสินใจกลับภูมิลำเนาเดิม
สภาพเดิมของที่ดินมรดก 6 ไร่ เป็นที่รกร้างไม่มีคนอยู่อาศัยมาเป็นเวลา 10 ปี สิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่มีแค่ห้องน้ำกับคอกวัวเก่าๆ แต่ด้วยแรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และด้วยคำแนะนาช่วยเหลือจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามีภรรยาคู่นี้ก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแบบเกษตรผสมผสาน และเป็นต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ของอำเภอพนมสารคาม
แนวทางการพัฒนาที่ดิน 6 ไร่ ที่มีอยู่ก็คือ แนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้นั่นเอง ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แนวทางทั้งสองประการทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังนี้
พื้นที่ร้อยละ 50 ใช้ปลูกพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกกล้วย มะพร้าว มะนาว พืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงวัว
พื้นที่ร้อยละ 30 ใช้ทำนาข้าวและให้วัวกินหญ้าในช่วงที่ไม่ได้ทำนา ขณะนี้มีวัวอยู่ 9 ตัว โดยเริ่มต้นจากวัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 2 ตัวที่ได้รับจากพ่อแม่ วัวเหล่านี้เปรียบได้กับเงินออมของบ้าน หากต้องการใช้เงินก้อนก็จะขายวัว ถ้าตัวยังเล็กจะขายได้สามหมื่นบาทขึ้นไป แต่ถ้าตัวโตเต็มที่จะขายได้ประมาณตัวละแสนกว่าบาท นอกจากเป็นเงินออม วัวที่มีอยู่ทั้ง 9 ตัว ยังสร้างรายได้สม่ำเสมอจากการขายขี้วัวอีกด้วย โดทำเป็นปุ๋ยคอกขายได้ถุงละ 30 บาท
ขุดสระน้ำเลี้ยงปลาร้อยละ 10 เหตุที่ใช้พื้นที่สำหรับขุดสระไม่มากนักเพราะบริเวณนั้นไม่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร สระน้ำที่นี่จึงเน้นการเลี้ยงปลา เช่น ปลาตะเพียนเพื่อจำหน่ายและบริโภค
เป็นที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์อื่นๆ ร้อยละ 10 เช่น เตรียมผลิตผลเพื่อนำไปจำหน่าย แปรรูปไข่เป็ดสดเป็นไข่เค็ม คุณปราณีเล่าว่าเป็ดที่มีอยู่ราว 200 ตัวจะให้ไข่มากกว่าเดือนละ 1,200 ฟอง ถ้าขายเป็นไข่สดจะได้กำไรน้อยมาก แต่พอทำเป็นไข่เค็มจะได้กำไรถึงฟองละสองบาทกว่า นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปลาดุกในโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทั้ง 4 ส่วน คือ ทำให้ครอบครัวนี้มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งอาหารหลากหลาย วันที่คุณณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมงาน The insider มาถ่ายทำรายการ คุณปราณีใช้เวลาไม่นานทำอาหารให้ลูกชายคือ น้องวินและเด็กหญิงใบบัวที่มากับทีมงานรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย โดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่มาทำกับข้าวคือ เก็บไข่เป็ดและเด็ดยอดชะอมที่ปลูกไว้มาทำไข่เจียวชะอม และช้อนปลาดุกจากโอ่งซีเมนต์มาทำปลาดุกทอด
นอกจากอาหารการกินจะอุดมสมบูรณ์ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นยังทำให้ครอบครัวนี้ได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข และมีรายได้ไว้จับจ่ายใช้สอยอย่างพอเพียง โดยมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้จากการขายไข่เค็ม 4,500 บาท ขายผักและผลไม้ 4,300 บาท ขายปุ๋ยคอกที่ได้จากขี้วัวแห้ง 1,800 บาท ขายน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาถ่านสำหรับไล่แมลง 1,200 บาท และยังมีรายได้จากการขายไข่เป็ดสด ถ่านไม้ กบ ไข่ไก่ และเมล็ดพันธุ์พืชอีก 3,200 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมรายได้จากการขายวัวเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่
บางคนอาจเข้าใจว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โครงการในพระราชดำริประสบความสำเร็จก็คือ พระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ในความเป็นจริงยังมีตัวอย่างจำนวนมากที่ได้รับแรงบันดาลใจและนำแนวทางที่พระราชทานไว้มาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ ดังครอบครัวที่นำเสนอในบทความนี้ ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตอันเร่งรีบวุ่นวายในเมืองกรุง มาเป็นเกษตรกรที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีรายได้พอเพียง และทั้งพ่อแม่ลูกได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข
“ธ สถิตในดวงในไทยนิรันดร์”

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การทำเกษตรทฤษฎีใหม่
12 การทำเกษตรผสมผสาน
13 ขุดสระน้ำเลี้ยงปลา
14 ใช้ทำนาข้าวและให้วัวกินหญ้า
15 ได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข
16 แนวทางการพัฒนาที่ดิน 6 ไร่
17 ปลูกพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์
18 เป็นที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์อื่นๆ
19 มีรายได้ไว้จับจ่ายใช้สอยอย่างพอเพียง
20 มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

เฉลย

บทความที่ 1 – น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การทำไร่เลื่อนลอย 99H
02 ช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ 99H
03 ทำการตลาดอย่างครบวงจร 07A 08A
04 ปัญหาการปลูกฝิ่น 99H
05 ป่าต้นน้ำถูกทำลาย 99H
06 พัฒนาการเลี้ยงสัตว์และประมง 07A 08A
07 มีงานทำอย่างสม่ำเสมอ 01F 04F 05F
08 มีรายได้เพียงพอ 01F 04F 05F
09 ส่งเสริมการปลูกไม้ดอกและพืชผักเขตหนาว 07A 08A
10 หลักการและการดำเนินงานของโครงการหลวง 02D 03D 06D 09D

บทความที่ 2 – แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ 13A 14A 17A 18A
12 การทำเกษตรผสมผสาน 13A 14A 17A 18A
13 ขุดสระน้ำเลี้ยงปลา 15A 19A 20A
14 ใช้ทำนาข้าวและให้วัวกินหญ้า 15A 19A 20A
15 ได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข 99H
16 แนวทางการพัฒนาที่ดิน 6 ไร่ 11D 12D
17 ปลูกพืชผักผลไม้และเลี้ยงสัตว์ 15A 19A 20A
18 เป็นที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์อื่นๆ 15A 19A 20A
19 มีรายได้ไว้จับจ่ายใช้สอยอย่างพอเพียง 99H
20 มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ 99H

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress