ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – ทฤษฎีใหม่…หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศหลั่งน้ำตาด้วยความโศกเศร้า ด้วยความอาลัย และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงงานหนักเป็นอย่างยิ่งเพื่อพสกนิกร พระองค์ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมากมายเหลือคณานับ หนึ่งในนั้นที่จะอัญเชิญมาเผยแพร่ในบทความนี้คือ การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ ซึ่งสรุปจากบทความวิชาการบนเว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา และจากวีดิทัศน์บนเว็บไซต์บ้านสวนพอเพียง โดยมีสาระสำคัญดังนี้
เกษตรกรในประเทศส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีที่ดินทำกินเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 15 ไร่ ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่อันดับแรกก็คือ ปัญหาขาดแคลนนาทำการเกษตร เนื่องจากพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ถัดมาคือ สามารถเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน เพราะเมื่อไม่มีน้ำจากระบบชลประทานมาช่วยก็ต้องพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว ปีใดฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง พืชผลก็จะยิ่งเสียหาย ปัญหาแต่ละอย่างนี้เองที่ทำให้เกษตรกรอยู่ในภาวะไม่พออยู่พอกิน และภาวะตกเป็นหนี้สินเพราะต้องไปกู้ยืมเงินมาเป็นค่ากินอยู่ ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าปุ๋ยค่ายากำจัดศัตรูพืช ปีใดไม่ได้ผลผลิตหรือได้น้อย หนี้สินก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว พระราชดำรินี้ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อใช้ทำการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ตัวเลขร้อยละ 30, 30, 30 และ 10 เป็นแนวทางในการแบ่งสัดส่วนพื้นที่
การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วยการแบ่งที่ดินที่เกษตรกรมีอยู่ออกเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ประโยชน์ดังนี้ ส่วนแรกขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง ตัวเลขร้อยละที่กล่าวในที่นี้จะเป็นตัวเลขโดยประมาณ หากอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่สามารถนำมาเติมสระได้ก็อาจใช้พื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 30 เช่น ถ้ามีที่ดินอยู่ 15 ไร่ อาจใช้พื้นที่ส่วนนี้ 3 ไร่ ขุดสระลึกประมาณ 4 เมตร และจุน้ำได้ประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำปริมาณนี้เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งและใช้เลี้ยงปลา สำหรับพื้นที่ส่วนที่สองและสาม กำหนดให้ใช้พื้นที่ทำนาร้อยละ 30 และปลูกพืชร้อยละ 30 พื้นที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 ประมาณ 2 ไร่ ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ เช่น ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน
การใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วยทฤษฎีใหม่ดังกล่าวนี้ก่อนที่จะทรงเผยแพร่ พระองค์ทรงศึกษาคำนวณและทดลองปฏิบัติจนแน่พระทัย เช่น พื้นที่ทำนาหรือเพาะปลูกพืช จะใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าพื้นที่ส่วนนี้มี 10 ไร่ก็ต้องใช้น้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตร สระขนาดดังกล่าวข้างต้นซึ่งจุน้ำได้ 19,000 ลูกบาศก์เมตร เมื่อคำนวณการสูญเสียน้ำจากการระเหยและอื่นๆ จะเหลือเพียงพอกับการทำนา และปลูกพืชต่างๆ ในฤดูแล้ง ดังนั้นการขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง ย่อมสามารถแก้หรือลดปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่ได้ทั้งสองประการ และเมื่อดูภาพรวมทั้งหมดของการใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนต่างๆ จะเห็นว่าการทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่จะทำให้เกษตรกรมีอาหารพอกินตลอดปีทั้งครอบครัวได้ รวมทั้งจะมีรายได้จากผลิตผลที่เหลือจากการบริโภค ผลทั้งสองประการนี้ย่อมสามารถลดภาวะไม่พออยู่พอกินและภาวะตกเป็นหนี้เป็นสินได้อย่างแน่นอน ดังที่เกษตรกรหลายครอบครัวได้น้อมนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
พื้นที่ที่เป็นต้นแบบของทฤษฎีใหม่คือ ที่ดินในอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี พื้นที่ทั้งสองแห่งนี้เป็นผลการดำเนินการเกษตรทฤษฏีใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระวิริยะอุตสาหะและความตั้งพระทัยมั่นของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากใครได้มีโอกาสชมวีดิทัศน์เรื่องทฤษฏีใหม่บนเว็บไซต์บ้านสวนพอเพียงซึ่งเผยแพร่ผ่านทาง Youtube จะเห็นได้ว่ากว่าพระองค์จะเสด็จไปถึงแปลงทดลองในที่ดินอำเภอเขาวงนั้น ต้องทรงผจญกับการเดินทางที่ยากลำบาก ผ่านทางเกวียนที่ขรุขระจนรถยนต์พระที่นั่งแกว่งไปมา แล้วต้องเสด็จพระราชดำเนินต่อด้วยพระบาทผ่านเส้นทางที่แคบ คดเคี้ยว ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ นับเป็นเส้นทางทรงงานที่ลำบากมาก
เป็นเวลาล่วงมาแล้วกว่า 20 ปี ความสำเร็จของโครงการทฤษฎีใหม่ที่เขาวงนี้ชี้ให้เห็นว่าในหลวงทรงวางรากฐานการเกษตรไว้อย่างเป็นระบบเพื่อพสกนิกรของพระองค์ ดังนั้นทฤษฎีใหม่ขั้นต้นดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ เมื่อเกษตรกรเข้าใจและลงมือปฏิบัติจนได้ผลแล้ว เพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็ควรดำเนินการต่อไปตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองและสาม จะได้พัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจนเกิดเป็นความสุขที่ยั่งยืนดังพระประสงค์ของในหลวงที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ | ||||
02 | ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร | ||||
03 | ขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง | ||||
04 | ใช้พื้นที่ทำนาร้อยละ 30 และปลูกพืชร้อยละ 30 | ||||
05 | ตกเป็นหนี้เป็นสิน | ||||
06 | ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่ | ||||
07 | เพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน | ||||
08 | มีรายได้จากผลิตผลที่เหลือจากการบริโภค | ||||
09 | มีอาหารพอกินตลอดปีทั้งครอบครัว | ||||
10 | ไม่พออยู่พอกิน |
บทความที่ 2 – อาหารริมทางภัยใกล้ตัว…
ช่วงกลางปีที่แล้ว สำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับเมืองที่มี Street Food หรืออาหารริมทางดีที่สุดในโลกว่ามี 23 เมือง โดยกรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก เมืองที่ได้รับการจัดอันดับรองๆลงไป ได้แก่ โตเกียวของญี่ปุ่น ฮอนโนลูลูของฮาวาย เดอบานของอัฟริกาใต้ เป็นต้น ส่วนเมืองที่ได้อันดับที่ 23 คือ ปักกิ่งของจีน
นอกจากผู้เขียนบทความ ชาวกรุงเทพฯ และคนไทยหลายคนคงปลื้มใจกับข่าวนี้ แต่เมื่อได้อ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอาหารริมทางในกรุงเทพฯ เรื่อง “ตีแผ่ด้านมืด…สตรีทฟู้ดเมืองกรุง” ในโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560 ซึ่งสัมภาษณ์อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการด้านโภชนา กับ ดร. วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเมื่อได้ฟังการสัมภาษณ์อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายการแชร์เล่าข่าวเด็ด สถานีวิทยุ FM 100.5 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560 ทำให้ผู้เขียนบทความรู้สึกตกใจและกังวลเรื่องสุขภาพอนามัยของคนกรุงและนักท่องเที่ยว จึงขอสรุปสาระสำคัญมาให้อ่านกัน
ด้วยลักษณะเด่นของอาหารริมทางในกรุงเทพฯ คือรสชาติอร่อยราคาไม่แพง และมีให้เลือกหลากหลายทั้งกลางวันกลางคืน จึงทำให้เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว ตลอดจนคนไทยจำนวนมาก และทำให้ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก ซึ่งถือเป็นด้านบวก แต่ในทางกลับกันอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กลับไม่หลงใหลได้ปลื้มกับข่าวนี้ เพราะห่วงเรื่องสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์สง่าบางตอน
“…ปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เรื่องสุขภาพอนามัย สาเหตุสำคัญที่สุดคือ เจ้าของร้านผู้สัมผัสอาหารและผู้ปรุงอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดงจะต้องล้างผักให้สะอาดก่อน 2-3 น้้า เพราะผักบุ้งมีสารปนเปื้อนเยอะ บางร้านเอาปลากระป๋องหมดอายุมาผัด บางร้านก็เอาเด็กลูกจ้างมาเสิร์ฟโดยไม่เคยฝึกเลยว่าเวลาจับแก้วน้ำ ไม่ควรจับปากแก้ว บางร้านมีน้้าแค่กะละมังเดียวใช้ล้างจานเป็นร้อยใบ ผู้บริโภคก็มักง่าย กินอะไรก็ได้ที่มันใกล้ตัวที่มันอร่อยโดยไม่เลือกร้าน ไม่สนว่าร้านนี้จะใช้ผ้าขี้ริ้วกับผ้าเช็ดเขียงผืนเดียวกัน ยอมให้คนขายข้าวมันไก่ใช้มือเปล่าหยิบชิ้นไก่โปะลงบนข้าว แล้วใช้มือข้างเดียวกันนั้นหยิบเงินทอนให้ลูกค้า ร้านก๋วยเตี๋ยวหลายร้านมีน้้ำแค่ถังเดียว ไม่มีก๊อกน้้าต่อสายมาลงถัง พอเรากินเสร็จก็เอาชาม ตะเกียบ ช้อนไปจุ่มๆในถัง แล้วไปใส่ก๋วยเตี๋ยวให้คนอื่นกินต่อ…”
จะเห็นว่าสาเหตุที่มาของปัญหาด้านลบ ก็คือคนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ หรืออาจเป็นความมักง่ายของคนขายอาหาร ปัญหาด้านลบมีอะไรบ้าง อันดับแรกหากใครใส่ใจสังเกตบ้างก็จะเห็นชัดคือ ภาชนะใส่อาหารสกปรก นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นอีกดังที่อาจารย์สง่ากล่าวว่า
“…อีกอย่างคือ อาหารริมทางที่ปรุงไม่ถูกสุขอนามัย อาจเต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง เชื้อโรค หรือพยาธิในลาบก้อยสุกๆ ดิบๆ ผลร้ายที่จะเกิดขึ้นอันดับแรกคือ ท้องร่วง ต่อมาคือ โรคทางเดินอาหารติดเชื้อ เช่น อาหารเป็นพิษ โรคมะเร็งจากโลหะหนักปนเปื้อนในผักที่ล้างไม่ดี ไหนจะโรคอ้วนเพราะอาหารริมทางส่วนใหญ่เป็นพวกผัดกับทอด มันระยับเลย เช่น ไก่ทอด หมูทอด ผัดซีอิ้ว ผัดไทย ผัดกระเพรา รวมทั้งอาหารรสเค็มจากการใส่ผงชูรสและเครื่องปรุงที่มีโซเดียมมากๆ นำไปสู่ความดันโลหิตสูง”
ดังนั้นปัญหาถัดมาซึ่งร้ายขึ้นไปอีกขั้นก็คือ อาหารมีเชื้อโรคและพยาธิปะปน มีสารพิษและสารก่อมะเร็งในอาหาร และเป็นอาหารที่อาจนำไปสู่โรคหลายโรค เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตาม สาเหตุของปัญหาดังกล่าวอาจไม่ใช่แค่ว่าคนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะและความมักง่ายของคนขายอาหารเท่านั้น เขาอาจจะมีความรู้ แต่สถานที่และสิ่งเอื้ออำนวยความสะดวกในการปรุงและการขายอาหารไม่พร้อม ทำให้ดูว่าเขามักง่าย หากมีการให้ความรู้และจัดที่ทางให้เหมาะสม สภาพการณ์คงดีขึ้นดังที่ ดร. วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า
“…ผู้ค้าอาหารริมทางก็ไม่ต่างจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอื่นๆ ที่ตั้งร้านเกะกะกีดขวางบนทางเท้า และที่หนักกว่าเพื่อนก็คือ มีการปรุงอาหาร ตั้งวางเตา หม้อก๋วยเตี๋ยว กระทะ และเตาร้อนๆ บนทางเท้า ประชาชนที่ผ่านไปมาต้องเสี่ยงอันตราย ครั้นจะลงไปเดินบนถนนก็เสี่ยงถูกรถชน ผลสำหรับอาหารริมทางที่ดีคือ ไปรวมเป็นสัดเป็นส่วนเหมือนตลาดโต้รุ่ง โดยเช่าเจ้าของที่ดินที่เขามีที่ทิ้งขยะ มีห้องน้้าห้องท่า มีที่ล้างชาม มีก๊อกน้ำครบครัน…”
ปัญหาด้านลบดังกล่าวข้างต้นย่อมลดหรือทำลายสิ่งที่เราภูมิใจ ทั้งการที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลกในด้านอาหารริมทาง รวมทั้งการที่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว ดังนั้นผู้ค้าอาหารริมทางทั้งหลายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง
ในขณะที่สาเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ที่จำเป็นต้องฝากท้องหลายมื้อไว้กับอาหารริมทาง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์สง่า
“ต้องมีความรู้และทักษะในการเลือกร้าน สังเกตจากตัวร้านว่าน่าไว้ใจได้ เช่น ช้อนส้อมจานชามล้างสะอาด วางเป็นระเบียบ คนขายสวมผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุมศีรษะ โต๊ะเก้าอี้ เครื่องปรุงวางดูดี ไม่มีผ้าขี้ริ้วดำปิ๊ดปี๋ ฯลฯ”
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | คนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ | ||||
12 | ความมักง่ายของคนขายอาหาร | ||||
13 | ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก | ||||
14 | เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว | ||||
15 | ภาชนะใส่อาหารสกปรก | ||||
16 | มีสารพิษและสารก่อมะเร็งในอาหาร | ||||
17 | มีให้เลือกหลากหลายทั้งกลางวันกลางคืน | ||||
18 | รสชาติอร่อยราคาไม่แพง | ||||
19 | อาหารมีเชื้อโรคและพยาธิ | ||||
20 | อาหารริมทางในกรุงเทพฯ |
เฉลย
บทความที่ 1 – ทฤษฎีใหม่…หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การทำเกษตรด้วยทฤษฎีใหม่ | 03D | 04D | 08A | 09A |
02 | ขาดแคลนน้ำทำการเกษตร | 05A | 10A | ||
03 | ขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ร้อยละ 30 ไว้ใช้หน้าแล้ง | 02F | 07F | ||
04 | ใช้พื้นที่ทำนาร้อยละ 30 และปลูกพืชร้อยละ 30 | 99H | |||
05 | ตกเป็นหนี้เป็นสิน | 99H | |||
06 | ปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่เผชิญอยู่ | 02D | 07D | ||
07 | เพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน | 05A | 10A | ||
08 | มีรายได้จากผลิตผลที่เหลือจากการบริโภค | 05F | 10F | ||
09 | มีอาหารพอกินตลอดปีทั้งครอบครัว | 05F | 10F | ||
10 | ไม่พออยู่พอกิน | 99H |
บทความที่ 2 – อาหารริมทางภัยใกล้ตัว…
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | คนขายอาหารขาดความรู้ขาดทักษะ | 15A | 16A | 19A |
12 | ความมักง่ายของคนขายอาหาร | 15A | 16A | 19A |
13 | ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของโลก | 99H | ||
14 | เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักท่องเที่ยว | 99H | ||
15 | ภาชนะใส่อาหารสกปรก | 13F | 14F | |
16 | มีสารพิษและสารก่อมะเร็งในอาหาร | 13F | 14F | |
17 | มีให้เลือกหลากหลายทั้งกลางวันกลางคืน | 13A | 14A | |
18 | รสชาติอร่อยราคาไม่แพง | 13A | 14A | |
19 | อาหารมีเชื้อโรคและพยาธิ | 13F | 14F | |
20 | อาหารริมทางในกรุงเทพฯ | 17D | 18D |