ข้อสอบ GAT1 มีนาคม 2559

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

บทความที่ 1 – เศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2559

ขณะที่เขียนบทความนี้ย่างเข้าปีใหม่มาได้ 1 สัปดาห์แล้ว ประเด็นที่กล่าวถึงกันมากเรื่องหนึ่งทั้งในช่วงก่อนและหลังปีใหม่คือ ในปี พ.ศ. 2559 นี้เศรษฐกิจของประเทศเราจะเป็นอย่างไรเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อประชาชนในวงกว้าง ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลความเห็นที่ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุจุฬาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558 มาวิเคราะห์และสรุปให้ท่านผู้อ่านพอได้เห็นแนวโน้มด้านเศรษฐกิจของเราว่าจะเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจปี 2559 น่าจะดีกว่าปี 2558 เล็กน้อย แต่ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งๆที่น่าจะดีกว่ากันมาก คือ ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยมีปัจจัยบวกหลายอย่าง ปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ 4-5 % แต่เนื่องจากเรายังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศซึ่งประกอบด้วยปัจจัยลบหลายประการ ปัจจัยลบต่างๆที่จะกล่าวต่อไปจะเป็นอุปสรรคขัดขวางหรือเป็นตัวถ่วง ทำให้เศรษฐกิจของเราไม่สามารถเติบโตได้ถึง 4-5 % ตามที่ควรจะเป็น คือรวมแล้วจะโตได้แค่ 2-3 %

ปัจจัยบวกประการแรกที่เห็นได้ชัด คือ การลงทุนของภาครัฐที่เป็นโครงการใหญ่ๆ เช่น การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มีรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วปานกลาง เป็นต้น การลงทุนของภาครัฐดังกล่าว ยังจะทำให้นักลงทุนภาคเอกชนของไทยกล้านำเงินมาลงทุนมากขึ้น การที่นักลงทุนภาคเอกชนของไทยลงทุนมากขึ้นถือเป็นปัจจัยบวกอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเรา

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศรับเงินหยวนของประเทศจีนเป็นส่วนหนึ่งในตะกร้าหน่วยสิทธิเบิกถอนพิเศษ (Special Drawing Rights หรือ SDR) เคียงข้างเงินดอลล่าร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์สเตอร์ลิง และเงินเยน โดยจะมีผลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 เหตุนี้ค่าเงินหยวนของจีนจึงน่าจะแข็งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นมา อีกประการหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากจีนมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับจากประเทศอื่น และเมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้นก็จะแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายของชาวจีนที่มาท่องเที่ยวไทยถูกลง สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มากเท่าจากจีน คาดว่ารวมแล้วปีนี้นักท่องเที่ยวที่มาไทยน่าจะเกิน 30 ล้านคน โดยอาจมากถึง 34 ล้านคน นอกจากนี้ การที่นักท่องเที่ยวมามากขึ้นยังจะทำให้นักลงทุนภาคเอกชนของไทยลงทุนมากขึ้นด้วย เพราะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอย่างจะขยายตัว

ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยมีปัจจัยบวกอีกอย่างหนึ่งคือ ไทยจะส่งสินค้าออกได้มากขึ้น สาเหตุเป็นเพราะสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น ค่าเงินบาทของไทยจึงอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ของสหรัฐอเมริการวมทั้งเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน สินค้าส่งออกของไทยจึงจะมีราคาถูกลง นอกจากนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะส่งสินค้าไปขายให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียงที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี เช่น ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม และเมื่อการส่งออกสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้นักลงทุนภาคเอกชนของไทยลงทุนมากขึ้นด้วย

สำหรับปัจจัยลบที่เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศประการแรก คือ ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นในปีนี้ เมื่อขาดแคลนน้ำที่จำเป็นต่อการทำนาและปลูกพืชผลต่างๆ ชาวนาและเกษตรกรซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศจะขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง หรือยากจนลง เงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพื่อการบริโภคสินค้าภายในประเทศก็จะลดลง เป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ปัจจัยลบประการต่อมา คือ เศรษฐกิจโลกเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆที่เป็นแหล่งเงินทุนและคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มว่าน่าจะดีขึ้นแต่ก็ไม่แน่ว่าจะดีขึ้นมากนัก ประเทศในยุโรปแม้จะดีขึ้นแต่ก็น้อย ญี่ปุ่นก็เช่นกัน ส่วนจีนนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวเห็นได้ชัด จากที่เติบโตเป็นตัวเลขสองหลักขณะนี้เหลือเพียง 6.5 % เมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้ การนำเงินจากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศเรา ซึ่งจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะลดลง นอกจากนี้ ปัจจัยลบข้อนี้ยังจะลดปัจจัยบวกที่ว่าการส่งสินค้าออกของเราเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยลบประการสุดท้าย คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับโลก ที่สำคัญคือสงครามในตะวันออกกลางที่มีหลายฝักหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง และมีประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาและรัสเซียหนุนหลังแต่ละฝ่าย ความขัดแย้งที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับอีกหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับโลกเช่นนี้ ยังมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรอีกด้วย เพราะจะทำลายบรรยากาศการกระจายความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ

การที่เรารู้แนวโน้มด้านเศรษฐกิจของประเทศเรา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวรับมือสมดังที่อาจารย์เกรียงศักดิ์อวยพรให้คนไทยก้าวพ้นสภาพการณ์เช่นนี้ไปได้อย่างมีสติและมั่นคง

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การลงทุนของภาครัฐ
02 ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับโลก
03 ไทยจะส่งสินค้าออกได้มากขึ้น
04 นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาก
05 นักลงทุนภาคเอกชนของไทยลงทุนมากขึ้น
06 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
07 ภัยแล้งที่จะรุนแรงมากขึ้น
08 ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย
09 เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ 4-5 %
10 เศรษฐกิจโลกเติบโตไม่ดี

บทความที่ 2 – เพิ่มพื้นที่ป่าลดปัญหาภัยแล้ง

ขณะนี้ภัยแล้งในประเทศไทยกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ น้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อนใหญ่เหลือน้อยเต็มที มีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการผลักดันน้ำเค็มเท่านั้น ช่วงนี้จะเห็นข่าวชาวนาชาวไร่ประสบความเดือดร้อนจำนวนมาก บ้างก็พยายามช่วยตนเองด้วยการลงทุนขุดเจาะหาน้ำบาดาล บ้างก็ลักลอบสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเพื่อเลี้ยงต้นข้าวให้อยู่รอดถึงฤดูเก็บเกี่ยว สาเหตุที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงมากในปีนี้ก็คือภาวะ Super El Ninos และภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ดินฟ้าอากาศวิปริตแปรปรวนไปทั่วโลก เหตุทั้งสองนี้อยู่เหนือการควบคุมของเรา แม้ว่าเราเองก็มีส่วนทำให้โลกร้อน แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราซึ่งคนไทยสามารถร่วมมือช่วยกันแก้ไขได้ คือ เรื่องการบุกรุกทาลายป่า บทความนี้จึงขอกล่าวถึงสภาพการณ์ป่าไม้ของไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร โดยสรุปจากเนื้อหาสาระที่พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์ในรายการเดินหน้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ป่าไม้ของไทยในปัจจุบันมีสภาพการณ์หรือปัญหาที่น่าเป็นห่วงอยู่หลายประการ ประการแรก คือ ขณะนี้เราเหลือพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์เพียง 102 ล้านไร่ ป่าส่วนนี้เรียกว่าป่าอนุรักษ์ ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320 ล้านไร่ หากคิดเป็นร้อยละเราจะมีป่าอนุรักษ์ร้อยละ 31.5 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งตามหลักวิชาการถือว่าไม่ได้มาตรฐานเพราะอย่างน้อยต้องมีป่าร้อยละ 40 ดังนั้นปัญหาประการที่สองก็คือ ขณะนี้เรามีป่าอนุรักษ์ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 26 ล้านไร่ ปัญหาประการสุดท้ายคือขณะนี้ยังมีการบุกรุกป่าอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาสองประการแรกด้วย

ปัญหาทั้งสามประการ มีสาเหตุสำคัญหลายอย่าง ได้แก่ การบุกรุกป่าของคนยากจนที่ไม่มีที่ทำกินจริงๆ การบุกรุกป่าของคน “อยากจน” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ยากจนจริงและมักมีที่ดินทำกินอยู่แล้วแต่อยากได้ที่ดินเพิ่ม ถัดมาคือการบุกรุกป่าของกลุ่มนายทุน และกลุ่มสุดท้ายคือการบุกรุกป่าของคนยากจนที่มีนายทุนหนุนหลัง การบุกรุกป่าของแต่ละกลุ่มนี่เองที่ทำให้ป่าไม้ของประเทศไทยเกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้

ขณะนี้รัฐบาลยับยั้งการบุกรุกป่าของคนกลุ่มต่างๆ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อยึดพื้นที่ป่าคืนมาเป็นสมบัติของชาติ มาตรการนี้ใช้กับการบุกรุกป่าของคนทุกกลุ่ม ส่วนการบุกรุกป่าของคนยากจน ยังมีมาตรการยับยั้งโดยใช้วิธีให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ เพื่อช่วยเหลือให้คนที่ยากจนจริงๆ มีที่ทำกิน จะได้ไม่บุกรุกป่าแห่งอื่นอีก

สำหรับมาตรการให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้นั้น จะใช้วิธีจัดสรรพื้นที่ที่ยึดมาได้และเหมาะสมที่จะใช้ทำมาหากินให้ผู้บุกรุกป่าที่ยากจน โดยมีเงื่อนไขให้ช่วยดูแลรักษาป่าที่เหลืออยู่และที่ปลูกเพิ่มเติม ดังตัวอย่างแปลงปลูกป่าเชิงอนุรักษ์ระบบนิเวศตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ยังได้เร่งดำเนินการโครงการป่าชุมชนของกรมป่าไม้ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ 20,000 หมู่บ้าน ขณะนี้ดำเนินการสำเร็จไปแล้วกว่า 3,000 หมู่บ้าน โครงการป่าชุมชนนี้เป็นประโยชน์มากทั้งต่อประชาชนในชุมชนและต่อการอนุรักษ์ป่า เพราะประชาชนในชุมชนที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าเป็นกำลังที่สำคัญมากในการดูแลรักษาป่า

การดำเนินการทวงคืนผืนป่ามีปัญหาอุปสรรคพอสมควร โดยเฉพาะการบุกรุกป่าของกลุ่มนายทุน ทั้งนี้เพราะนอกจากกลุ่มนายทุนมักจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล ยังมีเงินทองมากพอที่จะต่อสู้ในทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ ปัญหาอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือความเข้าใจของคนในสังคมที่เห็นภาพเจ้าหน้าที่ตัดต้นยางในพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกว่าเจ้าหน้าที่ใจร้าย แต่ที่จริงทางการมีแนวทางดำเนินการตามหลักวิชาการในการฟื้นฟูป่า คือหากพื้นที่ป่าที่ยึดคืนมาได้เป็นสวนยางพารา จะมีวิธีการดำเนินการตามอายุของต้นยาง ถ้าอายุต้นยางไม่เกิน 4 ปี จะตัดฟันทั้งหมดแล้วเร่งปลูกป่าทดแทนตามหลักวิชาการ หากอายุอยู่ระหว่าง 4-20 ปี จะตัดทิ้งบางส่วนประมาณร้อยละ 60 แล้วปลูกไม้ป่าและพืชท้องถิ่นเสริมเพื่อฟื้นคืนสภาพป่า แต่หากอายุต้นยางเกิน 20 ปี จะเก็บไว้เพราะมีขนาดใหญ่พอที่จะเสริมความเป็นสภาพป่าได้ แล้วปลูกไม้ป่าท้องถิ่นที่เหมาะสมเพิ่มเติม และหากพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้มีความเหมาะสม ก็จะจัดสรรให้คนยากจนจริงๆ ได้ใช้ทามาหากิน

สำหรับผลการดำเนินการทวงคืนผืนป่าปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจมาก ก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ สามารถทวงคืนผืนป่าได้ประมาณปีละ 60,000 ไร่ แต่ขณะนี้ทำได้ถึงปีละกว่าสองแสนไร

หากเราสามารถฟื้นคืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้ถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทยหรือได้มากกว่า คงลดปัญหาจากภัยธรรมชาติลงได้มากพอควร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม หรือมลภาวะทางอากาศจากการเผาป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน คนในชนบทหรือคนในเมืองใหญ่ ดังนั้นคนไทยทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาป่าไม้ของประเทศให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การบุกรุกป่าของกลุ่มนายทุน
12 การบุกรุกป่าของคนยากจน
13 การบุกรุกป่าของคน “อยากจน”
14 มาตรการทางกฎหมาย
15 มีป่าอนุรักษ์ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 26 ล้านไร่
16 มีสาเหตุสำคัญ
17 ยังมีการบุกรุกป่าอย่างต่อเนื่อง
18 สภาพการณ์ป่าไม้ของไทยในปัจจุบัน
19 เหลือพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์เพียง 102 ล้านไร่
20 ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้

เฉลย

บทความที่ 1 – ทฤษฎีใหม่…หนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 การลงทุนของภาครัฐ 05A 09A
02 ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับโลก 09F 10A
03 ไทยจะส่งสินค้าออกได้มากขึ้น 05A 09A
04 นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมาก 05A 09A
05 นักลงทุนภาคเอกชนของไทยลงทุนมากขึ้น 09A
06 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ 02D 07D 10D
07 ภัยแล้งที่จะรุนแรงมากขึ้น 09F
08 ศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย 01D 03D 04D 05D
09 เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ 4-5 % 99H
10 เศรษฐกิจโลกเติบโตไม่ดี 03F 09F

บทความที่ 2 – เพิ่มพื้นที่ป่าลดปัญหาภัยแล้ง

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การบุกรุกป่าของกลุ่มนายทุน 15A 17A 19A
12 การบุกรุกป่าของคนยากจน 15A 17A 19A
13 การบุกรุกป่าของคน “อยากจน” 15A 17A 19A
14 มาตรการทางกฎหมาย 11F 12F 13F
15 มีป่าอนุรักษ์ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 26 ล้านไร่ 99H
16 มีสาเหตุสำคัญ 11D 12D 13D
17 ยังมีการบุกรุกป่าอย่างต่อเนื่อง 15A 19A
18 สภาพการณ์ป่าไม้ของไทยในปัจจุบัน 15D 17D 19D
19 เหลือพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์เพียง 102 ล้านไร่ 99H
20 ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ 12F

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress