ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – ความสุขของมนุษย์
สืบเนื่องจากบทความที่แล้วเรื่อง “ความสุขของคนอาเซียน” ผู้เขียนแนะนำให้หาหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องความสุข ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต) เขียนไว้หลายเล่มมาอ่าน ปรากฏว่ามีผู้อ่านหลายท่านขอให้นำสาระสำคัญมาเผยแพร่ด้วย บทความนี้จึงจะกล่าวถึงความสุขซึ่งสรุปจากปาฐกถาธรรมและหนังสือที่พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวถึงความสุขไว้หลายแง่มุม
ความสุข คือการได้สนองความต้องการ คือความสมอยากสมปรารถนา เช่น อยากรับประทานอะไรแล้วได้รับประทานก็มีความสุข มีพระพุทธพจน์ว่า นิพพานเป็นสุขอย่างสูงสุด แสดงว่าความสุขมีหลายขั้น หลายระดับ หลายประเภท บทความนี้จะกล่าวถึงประเภทหรือขั้นของความสุข 5 ขั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า หากผู้อ่านได้ทำความเข้าใจให้ชัดเจน จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
ความสุขขั้นที่ 1 คือ ความสุขจากการเสพสิ่งบำรุงบำเรอหรือวัตถุภายนอกที่นำมาปรนเปรอทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น หรือกายสัมผัสของเรา เช่น เมื่อได้เห็นได้ยินเสียงที่ชอบใจ หรือได้ลิ้มรสอาหารที่ถูกปากก็จะมีความสุข หากขาดสิ่งบำรุงบำเรอชีวิตก็หมดสุข คำว่า ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ จึงเป็นลักษณะเด่นของความสุขขั้นนี้ คือต้องได้ ต้องเอา เมื่อได้มาก็มีความสุข แต่สักพักก็เคยชิน อยากได้สิ่งที่เลิศหรูกว่าเดิม จึงต้องหามาเพิ่ม แม้จะได้มาด้วยการทุจริตคดโกงก็ไม่ละอาย เหมือนคนติดยาเสพติดที่ต้องการปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ ความสุขขั้นที่ 1 จึงนำมาซึ่งการแย่งชิงเบียดเบียน ทั้งเพื่อนมนุษย์หรือสังคม ตลอดจนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความสุขขั้นนี้จึงเป็น ความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น
ความสุขขั้นที่ 2 เป็นความสุขที่เกิดจากการให้ด้วยความเมตตากรุณา หรือด้วยความศรัทธา เช่น พ่อแม่ให้ลูก เพื่อนช่วยเพื่อน ให้การทำนุบำรุงศาสนา ให้ความร่วมมือช่วยเหลือส่วนรวม เมื่อให้แล้วเห็นผู้รับมีความสุข เห็นสังคมและธรรมชาติแวดล้อมดีขึ้น ผู้ให้ก็มีความสุขที่ทำให้สิ่งดีงามเกิดขึ้น ความสุขจากการให้จึงเป็นความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่ต้องให้ด้วยจิตเมตตากรุณาหรือศรัทธาจึงจะเป็นความสุขขั้นที่ 2 หากให้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่น ให้สินบน ก็คงตกอยู่ในวังวนของการแสวงหาทรัพย์มาซื้อสิ่งบำรุงบำเรอเพื่อความสุขขั้นแรก แม้จะเบียดเบียนทำลายประเทศชาติก็ไม่รู้สึกผิด
ความสุขขั้นที่ 3 คือ ความสุขที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ชุมชน และสังคม ต้องอยู่อาศัยท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อม และต้องทำงานเลี้ยงชีพ ดังนั้นความสุขขั้นที่ 3 จึงประกอบด้วยการได้อยู่ในสังคมที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกัน การได้อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อชีวิต เช่น ฝนตกต้องตามฤดูกาล ไม่มีภัยแล้งหรือน้ำท่วม รวมทั้งการทำการงานแล้วได้ผลงานที่แท้จริงตามธรรมชาติของงาน
ข้อความที่ว่า ได้ผลงานที่แท้จริงตามธรรมชาติของงาน พระพรหมคุณาภรณ์ยกตัวอย่างเรื่องการทำสวนว่า ถ้าคนทำสวนต้องการผลงานตรงตามธรรมชาติของงานคือต้นไม้เจริญเติบโตออกดอกออกผล เมื่อผลงานออกมาตรงตามความต้องการก็จะมีความสุข จัดเป็นความสุขขั้นที่ 3 แต่ถ้ามองข้ามขั้น คือต้องการเงินค่าจ้างทำสวน ความสุขจะไปผูกอยู่กับจำนวนเงินที่จะนำไปหาความสุขขั้นที่ 1 เหมือนนักเรียนถ้าต้องการเป็นไปตามธรรมชาติของการเรียน คือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อเกิดการเรียนรู้ก็จะมีความสุข แต่ถ้าต้องการมุ่งไปที่คะแนนหรือเงินรางวัล ความสุขก็จะผูกอยู่กับคะแนนหรือเงินรางวัล ดังนั้นความสุขขั้นที่ 1 จึงสามารถลดความสุขที่เกิดจากการทำงานแล้วได้ผลตามธรรมชาติของงาน รวมทั้งบั่นทอนความสุขจากการได้อยู่ในสังคมที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน และจากการได้อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อชีวิตด้วย เพราะความสุขขั้นที่ 1 นำมาซึ่งการแย่งชิง เบียดเบียนทั้งเพื่อนมนุษย์ สังคม ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น แต่ในทางตรงกันข้าม ความสุขจากการให้ ไม่ว่าให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สังคม ช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติแวดล้อม กลับช่วยส่งเสริมให้เกิดองค์ประกอบเกี่ยวกับสังคมและธรรมชาติแวดล้อมของความสุขขั้นที่ 3
ความสุขขั้นที่ 4 คือ ความสุขจากการปรุงแต่งจิตใจ มนุษย์สามารถปรุงแต่งจิตใจให้ทุกข์หรือสุขก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะปรุงแต่งทุกข์ คือเก็บเอาอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ขัดหู ขัดตา ขัดใจ มาครุ่นคิดให้ไม่สบายใจ จึงควรเก็บเอาแต่อารมณ์ที่ดีมาปรุงแต่งใจให้สบาย แม้แต่หายใจก็ฝึกปรุงแต่งความสุขไปด้วย เช่น หายใจเข้า ทำใจให้เบิกบาน เวลาหายใจออก ก็ทำใจให้โปร่งเบา คือฝึกปรุงแต่งจิตให้ร่าเริงเบิกบาน อิ่มใจ มีความสุข จนถึงขั้นมีสมาธิ คือจิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน
ความสุขขั้นที่ 5 คือ ความสุขเหนือการปรุงแต่ง เป็นความสุขที่เกิดจากการพัฒนาปัญญาจนเห็นแจ้ง รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต วางจิตลงตัวสนิทกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นจิตที่สบาย ไม่มีอะไรกวน คนที่จิตลงตัวเช่นนี้จะมีความสุขประจำตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นความสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอก แม้จะมีสิ่งบำรุงบำเรออันเป็นความสุขขั้นที่ 1 ก็เสพสุขโดยไม่ยึดติดและห่วงกังวลว่าสิ่งนั้นจะหมดไป เพราะเห็นแจ้งแล้วว่าไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน จึงเป็นผู้ที่มีชีวิตที่พร้อมที่จะทำเพื่อคนอื่นได้เต็มที่
ความสุขขั้นที่ 1 เป็นความสุขที่ต้องแสวงหา ส่วนความสุขขั้นที่ 2-5 เป็นความสุขที่สร้างขึ้นได้ มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ฝึกได้ พัฒนาได้ ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงขอเชิญชวนให้พัฒนาตนจนสามารถสร้างความสุขขึ้นมาได้ภายในตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกมากนัก
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
01 | การได้อยู่ในสังคมที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน | |||
02 | ความสุขจากการเสพสิ่งบำรุงบำเรอ | |||
03 | ความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ | |||
04 | ความสุขที่เกิดจากการให้ | |||
05 | ความสุขที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ | |||
06 | ความสุขเหนือการปรุงแต่ง | |||
07 | ได้ผลงานที่แท้จริงตามธรรมชาติของงาน | |||
08 | ได้อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อชีวิต | |||
09 | ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ | |||
10 | ประเภทหรือขั้นของความสุข |
บทความที่ 2 – เด็กไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ก่อนวันเด็กแห่งชาติ 1 วัน คือเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2558 ในรายการเจาะข่าวเช้านี้ของสถานีวิทยุจุฬา ดร.ธีรารัตน์ พันทวี ได้พูดคุยสัมภาษณ์รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ว่าเด็กไทยจะช่วยสร้างชาติได้อย่างไรผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้เขียนเห็นว่าถ้านักเรียนได้อ่านบทความนี้ น่าจะเกิดความสนใจและตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ถ้าคนไทยจำนวนมากเก่งวิทยาศาสตร์ สิ่งที่จะตามมาซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ในเวทีโลก ก็คือ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ และทรัพย์สินทางปัญญา
ถึงแม้ว่าเด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งเก่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติดังที่มีข่าวเป็นระยะๆ แต่เมื่อมองในภาพรวมยังถือว่ามีจำนวนน้อย กล่าวคือ เด็กไทยสนใจเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์น้อย และแม้จะมีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์อยู่ในหลักสูตรทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษาจนอุดมศึกษา แต่ก็ไม่ตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์
ในสภาพการณ์ปัจจุบันของเรา มีเหตุปัจจัยหลายประการที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สนใจเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ หรือถึงเรียนตามหลักสูตรก็เรียนแบบไม่ตั้งใจ เรียนแบบท่องจำ หรือเรียนเพียงเพื่อสอบให้ผ่าน ปัจจัยที่ส้าคัญประการแรกคือขาดแรงบันดาลใจ ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จะต้องหาต้นแบบที่เก่งและประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ และเป็นที่เด็กๆ เห็นว่าเท่ อยากเอาเป็นแบบอย่าง มาช่วยพูดช่วยเล่าประสบการณ์เพื่อให้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า และกระตุ้นความสนใจวิชาวิทยาศาสตร์ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเองก็มีกิจกรรมหลายอย่างสนับสนุนการสร้างแรงบันดาลใจ มีถนนสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งในช่วงวันเด็กแห่งชาติปีนี้จัดเพิ่มเป็น 3 วัน และจัดเพิ่มขึ้นหลายแห่ง มีสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติที่มีกล้องดูดาวซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่ดอยอินทนนท์ นอกจากจะให้ความรู้แก่ผู้ที่มีโอกาสไปเยี่ยมชม ยังได้เผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านดาราศาสตร์ไปยังศูนย์การเรียนรู้ของจังหวัดต่างๆ ด้วย เพื่อสร้างความพิศวงและความสนใจอยากรู้อยากเห็นให้แก่เด็กนักเรียนและผู้สนใจ มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่จังหวัดปทุมธานี มีรถคาราวานวิทยาศาสตร์กระจายความรู้ไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
ปัจจัยต่อมาคือ ในโรงเรียนส่วนใหญ่ กระบวนการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ยังไม่ดี เนื่องจากขาดแคลนครูสอนวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ ปัญหานี้กำลังหาทางแก้ไข เช่น ขอให้มหาวิทยาลัย 5 แห่งเข้าไปช่วยปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และกำลังพิจารณาหาทางให้ผู้เรียนจบสาขาวิทยาศาสตร์โดยตรงเป็นครูผู้สอน ดังที่หลายประเทศทำกัน หาวิธีลดภาระงานครู และสนับสนุนครูในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ รวมทั้งกำลังสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนในสถานประกอบการจริงโดยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษากับภาคเอกชน ซึ่งนอกจากเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ยังจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการนำวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ
ปัจจัยประการสุดท้าย คือเรื่องตำแหน่งการงานสำหรับผู้เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันกล่าวได้ว่างานที่จะรองรับยังมีน้อย สำหรับแนวทางแก้ปัญหานี้ ดร.พิเชฐ มีความเห็นว่าควรหาทางสนับสนุนและชี้แนะให้ภาคการผลิตของเอกชน เห็นความสำคัญของการมีหน่วยวิจัยพัฒนาดังเช่นบริษัทใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ในระยะยาวจะได้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ในเวทีโลก ดังนั้นถ้าภาคเอกชนมีงานวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้น ตำแหน่งงานรองรับนักวิทยาศาสตร์ก็จะมีมากขึ้น สำหรับทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศเรามีศักยภาพที่จะทำให้เกิดขึ้นได้มากพอควร เพราะในภาครัฐเช่นสถาบันอุดมศึกษา มีผู้มีความรู้ความสามารถไม่น้อยที่มีผลงานวิชาการที่สามารถนำมาต่อยอดได้ แต่เนื่องจากจุดประสงค์หลักของภาครัฐไม่ใช่การทำธุรกิจเพื่อหารายได้ จึงมีงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นไม่มาก ขณะนี้จึงกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้ภาครัฐและเอกชนสามารถแบ่งผลประโยชน์กันได้หากร่วมมือกันนำผลงานทางวิชาการของคนในภาครัฐ มาพัฒนาเป็นทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นยังมีผลต่อกันและกัน คือเหตุที่เด็กขาดแรงบันดาลใจยังเกิดจากปัจจัยสองประการหลังด้วย ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังพยายามบูรณาการกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาแนวทางและวิธีการแก้ไขทั้งสามประการที่กล่าวมา เนื่องจากเห็นว่าการที่เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ และเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์น้อย ย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางความหวังที่จะให้คนไทยจำนวนมากเก่งวิทยาศาสตร์
ในขณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา เด็กไทยก็ควรปรับมุมมองของตนเกี่ยวกับการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วย คือมองให้เห็นคุณค่าว่า ในอนาคตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี่แหละจะเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการพัฒนาตนเองและประเทศชาติ ให้สามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆ ได้ เพราะเมื่อประเทศเรามีคนจำนวนมากเก่งวิทยาศาสตร์ ก็จะทำให้เรามีนวัตกรรม มีทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถเป็นแหล่งรายได้หลักอีกอย่างหนึ่งของประเทศนอกเหนือจากภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | กระบวนการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ยังไม่ดี | |||
12 | ขาดแรงบันดาลใจ | |||
13 | คนไทยจำนวนมากเก่งวิทยาศาสตร์ | |||
14 | งานที่จะรองรับยังมีน้อย | |||
15 | ทรัพย์สินทางปัญญา | |||
16 | เทคโนโลยีใหม่ ๆ | |||
17 | นวัตกรรม | |||
18 | ไม่ตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ | |||
19 | เรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์น้อย | |||
20 | สภาพการณ์ปัจจุบัน |
เฉลย
บทความที่ 1 – ความสุขของมนุษย์
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การได้อยู่ในสังคมที่เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน | 99H | |||
02 | ความสุขจากการเสพสิ่งบำรุงบำเรอ | 01F | 07F | 08F | 09D |
03 | ความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ | 99H | |||
04 | ความสุขที่เกิดจากการให้ | 01A | 03D | 08A | |
05 | ความสุขที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ | 01D | 07D | 08D | |
06 | ความสุขเหนือการปรุงแต่ง | 99H | |||
07 | ได้ผลงานที่แท้จริงตามธรรมชาติของงาน | 99H | |||
08 | ได้อยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อชีวิต | 99H | |||
09 | ต้องมีให้ได้ ไม่มีไม่ได้ | 99H | |||
10 | ประเภทหรือขั้นของความสุข | 02D | 04D | 05D | 06D |
บทความที่ 2 – เด็กไทยกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | กระบวนการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ยังไม่ดี | 12A | 18A | 19A |
12 | ขาดแรงบันดาลใจ | 18A | 19A | |
13 | คนไทยจำนวนมากเก่งวิทยาศาสตร์ | 15A | 16A | 17A |
14 | งานที่จะรองรับยังมีน้อย | 12A | 18A | 19A |
15 | ทรัพย์สินทางปัญญา | 99H | ||
16 | เทคโนโลยีใหม่ ๆ | 99H | ||
17 | นวัตกรรม | 99H | ||
18 | ไม่ตั้งใจเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ | 13F | ||
19 | เรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์น้อย | 13F | ||
20 | สภาพการณ์ปัจจุบัน | 11D | 12D | 14D |