ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – ปฏิรูปประเทศไทย
ขณะที่เขียนบทความนี้คือช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 บ้านเมืองก้าลังตกอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองคงทราบดีว่า เรื่องราวเป็นมาอย่างไร แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อขัดแย้งสำคัญ ฝ่ายรัฐบาลรักษาการต้องการให้เลือกตั้งก่อนปฏิรูป ส่วนฝ่าย กปปส. ซึ่งมีชื่อเต็มยาวมาก คือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องการให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง
ที่จริงเรื่องการปฏิรูปประเทศมีการพูดถึงและพยายามดำเนินการมาหลายปี เมื่อกลางปีที่แล้วก็มีการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2556 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีการพิจารณาและมีมติรวม 7 เรื่อง ในบทความนี้จะสรุปสาระสำคัญบางประการของเรื่องแรก คือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยสรุปจากเอกสารหลักและมติของการประชุม
การทุจริต หรือที่เรียกกันติดปากว่าคอร์รัปชันนั้น องค์กรความโปร่งใสสากลจำแนกรูปแบบของการคอร์รัปชันของภาครัฐไว้น่าสนใจ กล่าวคือ การคอร์รัปชันขนาดใหญ่ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ ถ้าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป จัดเป็นการคอร์รัปชันขนาดเล็ก การยักยอกคือการที่เจ้าหน้าที่นำเงินหรือสิ่งของราชการมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน การมีผลประโยชน์ทับซ้อน คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม การอุปถัมภ์และการเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นการเล่นพวกโดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม ส่วนการติดสินบนเป็นการเสนอหรือการให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย
ปรากฏว่าการคอร์รัปชันที่จำแนกไว้โดยองค์กรความโปร่งใสสากล พบได้ในบ้านครบถ้วนทั้ง 7 รูปแบบ ภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทยในสายตาของต่างชาติอยู่ในระดับที่ย่ำแย่มาก ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่องค์กร Transparency International จัดทำดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยมีคะแนนอยู่ระหว่าง 2.8-3.8 จากคะแนนเต็ม 10 มาโดยตลอด มหาวิทยาลัยหอการค้าสำรวจความคิดเห็นประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในปี พ.ศ. 2555 พบว่านับวันสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้อยละ 85.9 ตอบว่าต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ข้าราชการ โดยต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะร้อยละ 30-35 ของวงเงินงบประมาณโครงการ
เมื่อศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในแง่มุมต่างๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาเพียงบางส่วน สมัชชาปฏิรูปฯ จึงมีมติเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน 5 มาตรการดังนี้
ให้ใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามทุจริตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยระบุวิธีการไว้ชัดเจน คือให้จัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยให้สนับสนุนการดำเนินการในด้านต่างๆ รวมทั้งงบประมาณ
ใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีอากรในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เช่น ตรวจสอบความสุจริตของการประเมินภาษี และเปิดเผยแบบแสดงรายงานการเสียภาษีเงินได้ห้าปีย้อนหลังของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการระดับสูง
ปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริตของชาติอย่างเร่งด่วน เช่น ให้ ป.ป.ช. ปฏิรูปกระบวนการทำงานทั้งระบบอย่างจริงจัง ให้สนับสนุนกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครแจ้งเตือนเหตุทุจริต ให้พัฒนาระบบงานด้านสินบนนำจับอย่างเป็นรูปธรรม
เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเพื่อสังคมสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้โดยง่าย เช่น ข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการที่มีวงเงินหนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้ภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนเสร็จสิ้นโครงการ มาตรการข้อนี้แหละจะช่วยลดปัญหาการจ่ายเงินใต้โต๊ะดังกล่าวข้างต้นลงได้มาก
มาตรการสุดท้ายคือให้ปฏิรูปกระบวนการคัดสรรบุคคลผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจรัฐทุกตำแหน่งให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น กระบวนการสรรหา แต่งตั้ง และโยกย้ายข้าราชการระดับสูง
มาตรการทั้ง 5 ข้อที่สมัชชาปฏิรูปมีมติออกมานี้ จะช่วยป้องกันรูปแบบการคอร์รัปชันทุกรูปแบบที่องค์กรโปร่งใสสากลจำแนกไว้ดังกล่าวข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิผล
ปัญหาความขัดแข้งทางการเมืองในขณะนี้ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร การปฏิรูปประเทศก็คงจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่สมัชชาปฏิรูประดับชาติสรุปไว้ครั้งที่ 3 นี้รวมทั้งสองครั้งก่อน ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
01 | การคอร์รัปชันขนาดเล็ก | |||
02 | การคอร์รัปชันที่จำแนกไว้ | |||
03 | การติดสินบน | |||
04 | การมีผลประโยชน์ทับซ้อน | |||
05 | จ่ายเงินใต้โต๊ะร้อยละ 30-35 | |||
06 | ใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีอากร | |||
07 | ปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริต | |||
08 | เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ | |||
09 | มติเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน | |||
10 | ให้ใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหลัก |
บทความที่ 2 – ปัญหาเรื่องข้าว
นอกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือปัญหาที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินเพราะรัฐบาลรักษาการไม่ได้เตรียมเงินกู้ไว้ก่อนที่จะยุบสภา ทั้งๆ ที่โครงการนี้ขาดทุนหลายแสนล้าน ที่จริงปัญหาเรื่องข้าวมีมานานหลายสิบปีแล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศขายข้าวเปลือกได้ในราคาต่ำ ต้องตกเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ บ้างถึงกับต้องขายที่นาแล้วเช่าที่ทำกิน การค้าข้าวในตลาดโลกที่ไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดมานาน ก็ต้องเสียแชมป์ให้อินเดียและเวียดนามไปแล้วสองปีซ้อน ส่วนตลาดข้าวในอาเซียนนั้น เวียดนามชนะไทยมาตั้งแต่ปี 2548
นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญข้าวหลายคน ได้วิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวแต่ละปัญหาไว้อย่างครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งออก ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาเฉพาะจุด คือเน้นการแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำด้วยวิธีการรับจำนำ หรือชดเชย หรือประกันราคาข้าวเท่านั้น บทความนี้จะสรุปสาระสำคัญจากเอกสารที่เกี่ยวข้องของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นายปราโมทย์ วานิชานนท์ และนักวิชาการอีกหลายท่าน ว่ามองปัญหาในภาพรวมทั้งระบบอย่างไร
ปัญหาข้าวไทยมีหลายอย่าง ถ้ามองตั้งแต่แต่ต้นทางก็คือการปลูกข้าว ปรากฏว่าผลผลิตต่อไร่ของเราต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญก็คือเวียดนาม เช่น ช่วงปี พ.ศ. 2552-2553 เราผลิตได้เฉลี่ย 454.4 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่เวียดนามทำได้ 803.2 กิโลกรัมต่อไร่ เพราะรัฐบาลเวียดนามทุ่มงบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปีในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มปริมาณการผลิต โดยพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ เราจำเป็นต้องวิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี รวมทั้งพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
นอกจากปริมาณผลผลิต ปัญหาสำคัญต่อมาคือต้นทุนการผลิตของเราสูง ได้แก่ ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช ค่าเช่าเครื่องจักร เช่น รถไถนา และค่าแรงงาน เป็นต้น ส่วนต้นทุนการผลิตของเวียดนามนั้นต่ำกว่าไทย เนื่องจากยังคงใช้แรงงานคนในครัวเรือนเป็นหลัก การใช้ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชก็ยังมีปริมาณน้อยกว่าชาวนาไทยมาก
ปัจจุบันมีระบบชลประทานอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพียงประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกข้าว ส่วนอีกร้อยละ 70 ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ในขณะที่เวียดนามมีระบบชลประทานกระจายอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกมากถึงร้อยละ 50 ดังนั้นปัญหาเรื่องข้าวเราอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด
เมื่อมองต่อจากปัญหาการผลิตไปจนถึงการส่งออก ก็พบว่าปัญหาใหญ่ของเราอีกประการหนึ่งก็คือ ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้จากราคาข้าวสารชนิด 5% ในปี พ.ศ.2550 ราคาส่งออกของเวียดนามต่ำกว่าไทยอยู่เพียง 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน แต่ในปี 2552 เวียดนามต่ำกว่าไทยถึง 169 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้เวียดนามสามารถแย่งตลาดข้าวจากไทยได้ ถ้าเราหันกลับมาเน้นกลยุทธ์ทางการตลาดข้าวที่ผู้ซื้อนิยมบริโภค เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งผู้บริโภคพร้อมจัดซื้อในราคาที่แพงกว่าข้าวทั่วไป ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องการแข่งขันราคาข้าวได้ ประเด็นเรื่องการค้าข้าวในตลาดโลกนี้ ท้าให้มองเห็นไปถึงปัญหาข้าวไทยอีกข้อหนึ่งคือ เราขาดการสร้างตราสินค้าข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศว่าข้าวไทยมีสายพันธุ์ที่ดีอยู่มากมาย
ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างบางประการของปัญหาข้าวไทย ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาได้เสนอไปบ้างแล้ว เช่น การวิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ ที่จะเพิ่มเติมก็คือปัญหาต้นทุนการผลิตสูง
ดังกล่าวไว้นั้นจะแก้ไขอย่างไร เมื่อรู้ว่าต้นทุนเรามีหลายอย่าง ทั้งค่าปุ๋ยเคมี ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช ค่าเช่าเครื่องจักร เช่น รถไถนา และค่าแรงงาน เป็นต้น ก็ต้องแก้ไขโดยลดต้นทุนให้ตรงจุด ได้แก่ รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรชาวนากว้างขวางขึ้น และจัดหาเครื่องจักรให้กลุ่มเกษตรกรใช้ร่วมกัน ไม่ต้องต่างคนต่างซื้อหาหรือหาเช่ามาใช้เอง เป็นต้น
รัฐบาลชุดต่อไปตลอดจนหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาเรื่องข้าวไทยอย่างจริงจัง ให้ข้าวไทยกลับมาเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ ดังเช่นในอดีต ให้คนไทยได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพ และที่สำคัญคือให้ชาวนาไทย ผู้ทนลำบากตรากตรำผลิตข้าวเพื่อชาวไทยและชาวโลกจำนวนมากสามารถลืมตาอ้าปากได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ้นจากความทุกข์ยากที่ได้รับมาช้านาน และอย่าลืมคำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน”
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช | |||
12 | จัดหาเครื่องจักรกลุ่มเกษตรกร | |||
13 | ต้นทุนการผลิตสูง | |||
14 | แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว | |||
15 | ปัญหาข้าวไทย | |||
16 | ผลผลิตต่อไร่ต่ำ | |||
17 | รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น | |||
18 | ระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด | |||
19 | ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน | |||
20 | วิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว |
เฉลย
บทความที่ 1 – ปฏิรูปประเทศไทย
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การคอร์รัปชันขนาดเล็ก | 99H | |||
02 | การคอร์รัปชันที่จำแนกไว้ | 01D | 03D | 04D | |
03 | การติดสินบน | 99H | |||
04 | การมีผลประโยชน์ทับซ้อน | 99H | |||
05 | จ่ายเงินใต้โต๊ะร้อยละ 30-35 | 99H | |||
06 | ใช้มาตรการทางกฎหมายภาษีอากร | 01F | 03F | 04F | |
07 | ปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริต | 01F | 03F | 04F | |
08 | เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ | 01F | 03F | 04F | 05F |
09 | มติเรื่องการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน | 06D | 07D | 08D | 10D |
10 | ให้ใช้พลังทางสังคมเป็นกลไกหลัก | 01F | 03F | 04F |
บทความที่ 2 – ปัญหาเรื่องข้าว
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | ค่ายาฆ่าแมลงและโรคพืช | 99H | |||
12 | จัดหาเครื่องจักรกลุ่มเกษตรกร | 13F | |||
13 | ต้นทุนการผลิตสูง | 11D | |||
14 | แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องข้าว | 12D | 17D | 20D | |
15 | ปัญหาข้าวไทย | 13D | 16D | 18D | 19D |
16 | ผลผลิตต่อไร่ต่ำ | 99H | |||
17 | รณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น | 13F | |||
18 | ระบบชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด | 99H | |||
19 | ราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน | 99H | |||
20 | วิจัยพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว | 16F |