ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา
สถานบริการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือร้านเหล้าที่ตั้งอยู่รอบๆ หรือบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้วว่าเป็นแหล่งทำลายเยาวชนของชาติ แทบทุกคืนจะมีนิสิตนักศึกษามั่วสุมในร้านเหล้าใกล้มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย ที่เห็นชัดเจนก็คือทำให้เสียสุขภาพ และที่น่ากลัวก็คือทำให้เกิดการทะเลาะวิวาททั้งระหว่างนักศึกษาด้วยกันเองหรือกับวัยรุ่นกลุ่มอื่นที่มาใช้บริการ และมีหลายครั้งที่รุนแรงจนถึงขั้นบาดเจ็ดล้มตายดังเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 คือนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตคนหนึ่งซึ่งเป็นนักฟุตบอลดาวรุ่ง ถูกกลุ่มวัยรุ่นขับรถจักรยานยนต์ไล่ยิงจนเสียชีวิตทั้งๆที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ส่วนเพื่อนอีก 3 คนบาดเจ็บจากโดนมีดแทง 1 คนและถูกฟัน 2 คน
ที่จริงมีความพยายามรณรงค์ต่อต้านร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษามานานแล้ว คุณชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุจุฬาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ครปอ. เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 จากการรวมตัวของภาคีองค์กรจำนวนมาก เช่น องค์กรผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ องค์กรงดเหล้า ฯลฯ ได้ดำเนินการรณรงค์ต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการผลักดันจนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ข้อดีประการหนึ่งของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ครปอ. อาศัยข้อดีข้อนี้ผลักดันให้เกิดมาตรการขึ้นหลายอย่าง เช่น ห้ามดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ห้ามจำหน่ายสุราในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ล่าสุดคือห้ามจำหน่ายสุราบนรถไฟและสถานีรถไฟ สำหรับร้านเหล้าใกล้เคียงสถานศึกษานั้นได้รณรงค์ต่อต้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 พยายามเสนอรัฐบาลทุกยุคให้กำหนดเขตห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษา แต่ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำอย่างจริงจัง ทาง ครปอ. ได้ศึกษาวิจัยผลกระทบมานานและต่อเนื่อง พบว่าร้านเหล้าเหล่านี้มีกลยุทธ์หลายรูปแบบที่จะดึงดูดให้นิสิตนักศึกษามาอุดหนุนร้านของตน เช่น มีโปรโมชัน “ลดแลกแจกแถม” มีการแจกใบปลิวโฆษณาอย่างเปิดเผยทั้งหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยกระทั่งในหอพักนักศึกษา บ้างก็มุ่งเป้าหมายไปที่นักศึกษาหญิง เช่น ถ้ารวมกลุ่มกันมา 4 คนจะแถมเหล้าให้ 1 ขวด หลายร้านเปิดจนเกือบสว่าง โดยพอเที่ยงคืนก็ปิดหน้าร้านแต่หันไปเปิดหลังร้านแทน ทำให้นักศึกษาหลายคนเมาจนหัวราน้ำ ต้องลากถูลู่ถูกังกันกลับหอพักอย่างหมดสภาพ ผลเสียจากการที่นักศึกษามั่วสุมกันในร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเช่นนี้ นอกจากที่กล่าวข้างต้น ยังทำให้ผลการเรียนตกต่ำจนบางคนเรียนไม่จบ รวมทั้งมีเรื่องร้ายๆตามมาคือการพนันและยาเสพติด ช่วงที่คุณชูวิทย์ให้สัมภาษณ์คือต้นเดือนกรกฎาคมนั้น ทาง ครปอ. กำลังร่วมมือกับหลายกลุ่ม ช่วยกันเร่งรัดผลักดันให้กำหนดเขตห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา และในที่สุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และอีกสองวันต่อมาคือวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ก็มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ
คำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ครอบคลุมสองเรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องการแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์ กับเรื่องการควบคุมสถานบริการ ซึ่งจะรวมถึงร้านจำหน่ายสุราทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลสถานศึกษา สำหรับคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ที่เกี่ยวกับการควบคุมสถานบริการประกอบด้วยสาระสำคัญหลายข้อ ที่สำคัญคือ ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีเข้าไปใช้บริการ ข้อนี้จะรวมสถานบริการทุกประเภท คือไม่ใช่ห้ามเฉพาะร้านขายเหล้าเท่านั้น เช่นเดียวกับข้อต่อไปคือ ห้ามเปิดทำการเกินเวลา ส่วนข้อที่เกี่ยวกับร้านขายเหล้าก็คือ ห้ามขายสุราเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ห้ามขายสุราแก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สำหรับข้อที่ ครปอ. เรียกร้องมาหลายปี คือ กำหนดเขตปลอดร้านเหล้ารอบสถานศึกษานั้น ปรากฏว่าเป็นสาระสำคัญทั้งในคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 และในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่กล่าวข้างต้น คือ ห้ามมีสถานที่ขายสุราอยู่ใกล้สถานศึกษาหรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา สำหรับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมีข้อกำหนดด้วยว่าห้ามขายสุราในสถานที่หรือบริเวณซึ่งอยู่ในระยะ 300 เมตร จากรั้วหรือแนวเขตของสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
นอกจากที่กล่าวมา คำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ยังมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนค่อนข้างรุนแรง เช่น ให้ปิดสถานบริการ 5 ปี หากอยู่ใกล้สถานศึกษาให้ปิดอย่างถาวร ถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย ให้ดำเนินการลงโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และทางปกครอง
สาระสำคัญแต่ละข้อดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลชัดเจนที่จะลดปัญหานักศึกษามั่วสุมในร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งผลเสียที่ตามมา และถ้าเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติมีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุราและอบายมุขทั้งปวง ปัญหาเหล่านี้ย่อมหมดไปแน่นอน
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
01 | เกิดการทะเลาะวิวาทกัน | |||
02 | คำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 | |||
03 | นักศึกษามั่วสุมในร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย | |||
04 | ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี | |||
05 | ผลการเรียนตกต่ำ | |||
06 | เสียสุขภาพ | |||
07 | ห้ามขายสุราแก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี | |||
08 | ห้ามเปิดทำการเกินเวลา | |||
09 | ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีเข้าไปใช้บริการ | |||
10 | ห้ามมีสถานที่ขายสุราอยู่ใกล้สถานศึกษา |
บทความที่ 2 – ปัญหาขยะล้นเมือง
ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และในโทรทัศน์เมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 คือชาวบ้านในตำบลเชียงรากใหญ่และตำบลใกล้เคียงในอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีจำนวนกว่า 200 คน ร่วมกันแห่โลงศพและเผาโลงศพแสดงการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่ที่กำหนดจะสร้างโรงไฟฟ้าไม่เหมาะสม เพราะอยู่ใกล้ชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยกว่า 2,000 ครัวเรือน อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา มีคลองย่อยโดยรอบถึง 21 สาย อีกทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์เพื่อผลิตน้ำประปาด้วย
เรื่องขยะล้นเมืองเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กองขยะที่สะสมจนสูงเป็นภูเขาเลากาในที่ต่างๆ ก่อให้เกิดผลเสียมากมาย ได้แก่ มลพิษทางอากาศ ดังเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะบนเนื้อที่ 150 ไร่ในซอยแพรกษา 8 จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้เกิดควันพิษสูงเกินมาตรฐานหลายเท่า ควันไฟที่คละคลุ้งเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ต้องอพยพผู้คนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงไปอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว หรือน้ำเน่าเสียจากองขยะไหลลงแม่น้ำลำคลอง หรือการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นต้น
สถานการณ์ขยะในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีคำตอบที่ชัดเจนมากในรายการเดินหน้าประเทศไทยเรื่อง “สถานการณ์ขยะของไทย” ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 3-4 เดือนก่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีขยะตกค้างจำนวนมหาศาลถึง 30 ล้านตัน ซึ่งด้วยงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรไว้ในแต่ละปี จะต้องใช้เวลา 3 ถึง 5 ปีจึงจะจัดการได้หมด และที่น่าเป็นห่วงคือแต่ละปีมีขยะเกิดใหม่ถึงกว่า 23 ล้านตันโดยที่ไม่นับรวมขยะของกรุงเทพมหานคร ขยะที่ตกค้างและขยะที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากในแต่ละปีนี่เองที่ทำให้เกิดผลเสียที่กล่าวข้างต้น ทั้งมลพิษทางอากาศ น้ำเน่าเสีย รวมทั้งเป็นแหล่งแพร่ของเชื้อโรค
รัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดให้การแก้ปัญหาเรื่องขยะเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นตลอดจนประชาชน จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง นโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาขยะประกอบด้วยมาตรการหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือสร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากขยะซึ่งทำให้เกิดปัญหาการแห่และเผาโลงศพประท้วงคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าในตำบลเชียงรากใหญ่ดังกล่าว ที่จริงการกำจัดขยะโดยนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ย ผลิตก๊าซสำหรับการหุงต้ม หรือนำมาเผาให้ได้พลังงานความร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เพราะไม่ทำความเข้าใจหรือไม่รับฟังความเห็นของประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่มีผลประโยชน์ทับซ้อนดังที่มีการกล่าวหาว่ามีการแก้ผังเมืองให้พื้นที่ตำบลรากใหญ่สร้างโรงไฟฟ้าขยะได้นั้น ทำให้โครงการนี้ต้องสะดุดลง
มาตรการต่อมาคือกำหนดให้พี้นที่ที่สร้างขยะต้องรับผิดชอบกำจัดขยะ จะได้ไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะเอาขยะไปกำจัดในพื้นที่ใด คือท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องรับผิดชอบขยะที่คนในชุมชนของตนก่อขึ้น โดยกำหนดเป็นมาตรการอีกข้อหนึ่งคือ ต้องดำเนินการฝังกลบขยะอย่างถูกวิธี ถ้าไม่มีพื้นที่พอที่จะฝังกลบขยะ ก็ต้องทำการเผาขยะด้วยวิธีการที่ถูกต้องโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม หากขยะในชุมชนมีน้อยและไม่คุ้มที่จะดำเนินการฝังกลบหรือเผาขยะ ก็ให้รวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการขยะร่วมกัน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ 7,851 องค์กร แต่ละท้องถิ่นสร้างขยะมากน้อยต่างกัน หากมีขยะเกิน 500 ตันต่อวันถือว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ระหว่าง 300-500 ตันต่อวันเป็นขนาดปานกลาง น้อยกว่า 300 ตันต่อวันจัดเป็นขนาดเล็ก จึงให้มีการรวมกลุ่มกัน ขณะนี้รวมกลุ่มกันได้ 151 กลุ่ม ทั้งนี้แต่ละกลุ่มต้องหาพื้นที่เพื่อดำเนินการกำจัดขยะด้วยวิธีที่เหมาะสมกับบริบทของกลุ่ม ซึ่งอาจใช้วิธีเผาขยะทิ้ง เผาขยะเพื่อเอาพลังงานความร้อนมาผลิตกระแสไฟฟ้า ทำก๊าซหุงต้ม หรือฝังกลบอย่างถูกวิธี
มีตัวอย่างการดำเนินการฝังกลบขยะอย่างถูกวิธี คือศูนย์จัดการขยะอย่างคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัด คือนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ เล่าให้ฟังว่า ขยะตกค้างสะสมในจังหวัดถือว่ามีจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆของประเทศ คือประมาณกว่าสองแสนสามหมื่นตัน รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้เป็นต้นแบบในการกำจัดขยะ โดยตั้งศูนย์กำจัดขยะดังกล่าวขึ้นเพื่อทำการฝังกลบอย่างถูกวิธีและเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะนี้ได้ขนย้ายขยะตกค้างในเมืองมาฝังกลบหมดแล้ว ที่นี่มีบ่อฝังกลบขยะ 2 บ่อ ๆ ละ 125 ไร่ ลึก 11 เมตร ฝังกลบขยะได้ 4 ชั้น ๆ ละ 2 เมตร รองรับขยะเกิดใหม่วันละพันตันได้ 30 กว่าปี ก้นบ่อเป็นดินสังเคราะห์ที่น้ำผ่านเข้าออกไม่ได้ ปากบ่อคลุมด้วยวัสดุสังเคราะห์กันน้ำ น้ำเสียที่ออกจากบ่อขยะจะไหลไปลงบ่อบำบัดน้ำเสียและนำน้ำมาใช้ใหม่ได้ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะกำลังเริ่มก่อสร้าง
มาตรการที่กล่าวมาจะลดขยะตกค้างและขยะเกิดใหม่ ส่วนอีกมาตรการหนึ่งคือการรณรงค์ให้แต่ละคนช่วยกันลดขยะ จะช่วยลดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปี ดังนั้นในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ ทุกคนต้องมีจิตสำนึกร่วมกันในการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง แต่ละคนจะต้องลดการสร้างขยะลงให้ได้มากที่สุด ต้องช่วยกันแยกขยะที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ต้องพยายามเลิกใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะย่อยสลายหมด หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ประเทศเราจะสามารถแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | ขยะที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากในแต่ละปี | ||||
12 | ดำเนินการฝังกลบขยะอย่างถูกวิธี | ||||
13 | นโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาขยะ | ||||
14 | น้ำเน่าเสีย | ||||
15 | พื้นที่ที่สร้างขยะต้องรับผิดชอบกำจัดขยะ | ||||
16 | มลพิษทางอากาศ | ||||
17 | มีขยะตกค้างจำนวนมหาศาล | ||||
18 | รณรงค์ให้แต่ละคนช่วยกันลดขยะ | ||||
19 | สถานการณ์ขยะในปัจจุบัน | ||||
20 | สร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากขยะ |
เฉลย
บทความที่ 1 – ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | เกิดการทะเลาะวิวาทกัน | 99H | |||
02 | คำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 | 07D | 08D | 09D | 10D |
03 | นักศึกษามั่วสุมในร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย | 01A | 05A | 06A | |
04 | ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี | 10D | |||
05 | ผลการเรียนตกต่ำ | 99H | |||
06 | เสียสุขภาพ | 99H | |||
07 | ห้ามขายสุราแก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี | 01F | 03F | 05F | 06F |
08 | ห้ามเปิดทำการเกินเวลา | 01F | 03F | 05F | 06F |
09 | ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีเข้าไปใช้บริการ | 01F | 03F | 05F | 06F |
10 | ห้ามมีสถานที่ขายสุราอยู่ใกล้สถานศึกษา | 01F | 03F | 05F | 06F |
บทความที่ 2 – ปัญหาขยะล้นเมือง
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | ขยะที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากในแต่ละปี | 14A | 16A | ||
12 | ดำเนินการฝังกลบขยะอย่างถูกวิธี | 11F | 17F | ||
13 | นโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาขยะ | 12D | 15D | 18D | 20D |
14 | น้ำเน่าเสีย | 99H | |||
15 | พื้นที่ที่สร้างขยะต้องรับผิดชอบกำจัดขยะ | 11F | 17F | ||
16 | มลพิษทางอากาศ | 99H | |||
17 | มีขยะตกค้างจำนวนมหาศาล | 14A | 16A | ||
18 | รณรงค์ให้แต่ละคนช่วยกันลดขยะ | 11F | |||
19 | สถานการณ์ขยะในปัจจุบัน | 11D | 17D | ||
20 | สร้างโรงไฟฟ้าใช้พลังงานจากขยะ | 11F | 17F |