ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – ทางรอดชีวิตของเต่าทะเลสีเขียวในฮ่องกง
เมื่อปี พ.ศ. 2547 สหภาพอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศจัดให้เต่าทะเลสีเขียวอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ องค์กรอนุรักษ์พันธ์สัตว์ Earthtrust ประเมินว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเต่าทะเลสีเขียวเพศเมียวัยผสมพันธุ์อยู่ไม่ถึง 2 แสนตัว
เต่าทะเลสีเขียวได้ชื่อตามสีของตัวมันเอง เมื่อโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักมากกว่า 150 กิโลกรัม มีแหล่งอาศัยในน่านน้ำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แหล่งที่มีเต่าทะเลพันธุ์นี้อาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่ ประเทศคอสตาริกา และ แถบแนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ในออสเตรเลีย สำหรับที่ฮ่องกงนั้นมีเต่าทะเลสีเขียวอาศัยอยู่ไม่มากนัก
ขณะนี้สถานการณ์ของเต่าทะเลสีเขียวในน่านน้ำฮ่องกงตกอยู่ในภาวะเลวร้าย รัฐบาลฮ่องกงเองก็กำลังพยายามฟื้นฟูจำนวนประชากรเต่าทะเลสีเขียวให้เพิ่มขึ้นอีกครั้ง คุณ K.S.Cheung เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าชายเลนและพันธุ์สัตว์ของกระทรวงการเกษตร การประมง และการอนุรักษ์ของฮ่องกงกล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดมาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลสีเขียวขึ้นมา คือการห้ามรุกล้ำพื้นที่วางไข่ของมันในช่วงฤดูวางไข่ ได้แก่ช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคม โดยกำหนดพื้นที่หาด Sham wan บนเกาะแลมม่าเป็นเขตอนุรักษ์เพื่อให้เต่าทะเลสีเขียวขึ้นไปทำรังและวางไข่ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณเขตนั้นเป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ
คุณ K.S.Cheung เล่าว่า ภัยคุกคามเต่าทะเลสีเขียวมีหลายอย่าง ทั้งมลพิษในทะเล การทำประมง การดำน้ำ และเรือเร็วซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อตัวเต่าในทะเล แต่ภัยคุกคามสำคัญที่สุดของเต่าพันธุ์นี้ก็คือการที่ชาวต่างชาตินิยมบริโภคเนื้อและไข่เต่าทะเลสีเขียวมากนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นไข่เต่าหรือตัวเต่าซึ่งเป็นอาหารอันโอชะและเป็นที่นิยมมากของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ผลก็คือนอกจากทำให้จำนวนเต่าลดลง จำนวนไข่เต่าทะเลสีเขียวก็พลอยลดลงด้วย ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งก็เป็นภัยคุกคามสำคัญเช่นกันทั้งต่อตัวเต่าและไข่ของมัน นอกจากนี้ ไม่เฉพาะภัยจากชาวต่างชาติเท่านั้น ยังมีภัยคุกคามจากชาวบ้านที่เป็นคนจนด้วย เพราะคนจนในฮ่องกงบริโภคเนื้อและไข่เต่าเป็นอาหารในยามขาดแคลน แม้จะต้องลักลอบเข้าไปในเขตหวงห้ามซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมก็ตาม
นอกจากเหตุดังกล่าวข้างต้น การรุกล้ำพื้นที่วางไข่เต่าทะเลสีเขียวก็เป็นเหตุสาคัญประการหนึ่งเพราะไม่เพียงเป็นเหตุให้สูญเสียไข่เต่าเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อตัวเต่าเองด้วยเพราะมักถูกจับไปพร้อมกับไข่ของมัน ดังเช่นการทำประมงในเขตหวงห้าม นอกจากตัวเต่าจะติดอวนจับปลา ชาวประมงยังชอบลักลอบขึ้นฝั่งไปยังชายหาดที่วางไข่ เพื่อเอาไข่รวมทั้งตัวเต่าไปเป็นอาหาร จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่าทะเลสีเขียวและไข่เต่ามีจำนวนลดลง ดังนั้นมาตรการอนุรักษ์ที่ห้ามรุกล้ำพื้นที่วางไข่ซึ่งครอบคลุมการห้ามทำประมงในเขตหวงห้าม จึงน่าจะช่วยลดปัญหาการสูญเสียไข่เต่าและตัวเต่าอย่างได้ผล
มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลสีเขียวอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะช่วยยับยั้งปัญหาการลดจำนวนเต่าและไข่เต่าได้ก็คือ การห้ามขายเนื้อและไข่เต่าทะเลสีเขียวรวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากมัน มาตรการนี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งบรรดานักอนุรักษ์ในฮ่องกงต่างหวังว่าความพยายามนี้รวมทั้งมาตรการอื่นๆ จะช่วยชีวิตและช่วยเพิ่มจำนวนเต่าทะเลสีเขียวในฮ่องกงและทั่วโลกได้
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การทำประมงในเขตหวงห้าม | ||||
02 | การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง | ||||
03 | การห้ามขายเนื้อและไข่เต่า | ||||
04 | การห้ามรุกล้ำพื้นที่วางไข่ | ||||
05 | ไข่เต่ามีจำนวนลดลง | ||||
06 | คนจนในฮ่องกงบริโภคเนื้อและไข่เต่า | ||||
07 | จำนวนเต่าลดลง | ||||
08 | ชาวต่างชาตินิยมบริโภคเนื้อและไข่เต่า | ||||
09 | ภัยคุกคามเต่าทะเลสีเขียว | ||||
10 | มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลสีเขียว |
บทความที่ 2 – ปัญหาวัยรุ่น ต้นเหตุ และทางแก้
เวลารับรู้ปัญหาของวัยรุ่น หลายคนมีความหงุดหงิด ไม่พอใจ เบื่อ รู้สึกว่าทำไมเด็กไม่เลือกสิ่งที่ดีให้กับตนเอง ทำไมต้องสร้างปัญหา จนมีคนจำนวนหนึ่งอยากจัดการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แต่ในความเป็นจริงพฤติกรรมที่ปรากฏให้เห็นมีเหตุปัจจัยหลายอย่างเชื่อมโยงกัน ที่น่าคิดคือทำไมเด็กบางคนมีปัญหาพฤติกรรม เช่น ติดยาเสพย์ติด เล่นการพนัน ชอบความรุนแรง มีปัญหาเรื่องเพศ เป็นต้น แต่ทำไมเด็กบางคนไม่มีปัญหาทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง
ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลอธิบายถึงปัญหานี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาวัยรุ่นมีมากมาย ที่สำคัญคือปัจจัยเสี่ยงในครอบครัว ปัจจัยเสี่ยงในชุมชนและสังคม และปัจจัยเสี่ยงในตัวเด็กเอง ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาก็ต้องลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสร้างปัจจัยปกป้องเพิ่มขึ้นซึ่งที่สำคัญก็คือภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก
ปัจจัยเสี่ยงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ถูกต้อง เช่น ตามใจลูกมากเกินไป ไม่รู้วิธีที่จะจูงใจเด็กให้ทำตามคำสั่งของพ่อแม่ บางครอบครัวใช้วิธีบังคับรุนแรงแต่ไม่เคยแก้ปัญหาได้ บางครอบครัวมีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจนเด็กไม่อยากกลับบ้าน ในที่สุดก็มีกลุ่มของตนเองและรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมากกว่าครอบครัว บางครอบครัวส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นปัญหา มองว่าปัญหามาจากเพื่อนหรือคนอื่น ปกป้องเด็กในทางที่ผิด ไม่ฝึกเด็กให้รับผิดชอบการกระทำของตนเอง นอกจากนี้การที่ตัวพ่อแม่เองมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมด้วย ก็เลยกลายเป็นเรื่องของลูกปูเดินตามพ่อปูแม่ปู
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในตัวเด็กก็เป็นผลมาจากครอบครัวเช่นกัน โดยเฉพาะการไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว ถูกมองว่าเป็นแกะดำ ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง จะทำให้เด็กมีความคิดต่อต้านสังคม ไม่ยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกัน มองพฤติกรรมที่เป็นปัญหาว่าเป็นความทันยุคทันสมัยและทำให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่ม
เหตุสำคัญของปัญหาวัยรุ่นอีกอย่างหนึ่งคือปัจจัยเสี่ยงในชุมชนและสังคม ได้แก่การที่เด็กเข้าถึงอบายมุข เหล้า ยา อาวุธ สื่อลามก และสิ่งยั่วยุทั้งหลายได้โดยง่าย เมื่อทัศนคติของชุมชนเองก็ยอมรับสิ่งเหล่านี้ และผู้ใหญ่เองก็ทำผิดให้เด็กเห็น เด็กก็ย่อมซึมซับรับเอาพฤติกรรมที่เป็นปัญหามาปฏิบัติบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงทั้งสามประการล้วนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหายาเสพย์ติด ติดสุรา ติดการพนัน ชอบความรุนแรง ตลอดจนการมั่วสุมทางเพศและปัญหาอื่นๆ ดังนั้นหนทางในการแก้ปัญหาก็คือต้องป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่างๆ ลง และที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิธีการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องนั่นเอง ภูมิคุ้มกันสำคัญที่จะต้องช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้แก่ การช่วยให้เด็กมีเป้าหมายในชีวิต มีบุคลิกภาพที่มั่นคง และมีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง ในวัยรุ่นการมีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวต้องช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งที่ตนต้องการและมีความหวังในอนาคต จะทำให้เด็กมุ่งมั่นในความสำเร็จมากกว่าที่จะใช้เวลากับสิ่งยั่วยุ สำหรับบุคลิกภาพที่มั่นคงเป็นผลมาจากการที่เด็กมีความเชื่อมั่นในคนรอบข้างโดยเฉพาะพ่อและแม่ เชื่อมั่นว่าพ่อแม่สามารถให้คำแนะนำที่ดี พูดคุยปัญหากับพ่อแม่ได้ ทำให้มั่นใจในตนเอง ซึ่งจะสัมพันธ์กับความมั่นใจว่าตนสามารถมีชีวิตที่ดีแม้จะแวดล้อมด้วยสิ่งที่เป็นปัญหา ส่วนการมีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปลูกฝังและอบรมสิ่งสอนมาตั้งแต่วัยเด็ก ให้เด็กสามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องได้ แม้จะเห็นคนอื่นทำสิ่งที่ผิดก็ยังยืนหยัดที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป
ภูมิคุ้มกันทั้งสามประการนี้นอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาวัยรุ่นทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น ยังจะช่วยให้วัยรุ่นมีอนาคตที่สดใส และเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไป
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | ชอบความรุนแรง | |||
12 | ติดยาเสพย์ติด | |||
13 | ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาวัยรุ่น | |||
14 | ปัจจัยเสี่ยงในครอบครัว | |||
15 | ปัจจัยเสี่ยงในชุมชนและสังคม | |||
16 | ภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก | |||
17 | มีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง | |||
18 | มีปัญหาเรื่องเพศ | |||
19 | มีเป้าหมายในชีวิต | |||
20 | วิธีการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง |
เฉลย
บทความที่ 1 – ทางรอดชีวิตของเต่าทะเลสีเขียวในฮ่องกง
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การทำประมงในเขตหวงห้าม | 05A | 07A | ||
02 | การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง | 05A | 07A | ||
03 | การห้ามขายเนื้อและไข่เต่า | 05F | 07F | ||
04 | การห้ามรุกล้ำพื้นที่วางไข่ | 01F | 05F | 07F | |
05 | ไข่เต่ามีจำนวนลดลง | 99H | |||
06 | คนจนในฮ่องกงบริโภคเนื้อและไข่เต่า | 05A | 07A | ||
07 | จำนวนเต่าลดลง | 99H | |||
08 | ชาวต่างชาตินิยมบริโภคเนื้อและไข่เต่า | 05A | 07A | ||
09 | ภัยคุกคามเต่าทะเลสีเขียว | 01D | 02D | 06D | 08D |
10 | มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลสีเขียว | 03D | 04D |
บทความที่ 2 – ปัญหาวัยรุ่น ต้นเหตุ และทางแก้
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | ชอบความรุนแรง | 99H | ||
12 | ติดยาเสพย์ติด | 99H | ||
13 | ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาวัยรุ่น | 14D | 15D | |
14 | ปัจจัยเสี่ยงในครอบครัว | 11A | 12A | 18A |
15 | ปัจจัยเสี่ยงในชุมชนและสังคม | 11A | 12A | 18A |
16 | ภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก | 17D | 19D | |
17 | มีความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้อง | 11F | 12F | 18F |
18 | มีปัญหาเรื่องเพศ | 99H | ||
19 | มีเป้าหมายในชีวิต | 11F | 12F | 18F |
20 | วิธีการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง | 16A |