ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – สัตว์อพยพเคลื่อนย้ายกลับถิ่นกำเนิดได้อย่างไร
ธรรมชาติมีปรากฏการณ์ที่สร้างความพิศวงงงงวยให้แก่มนุษย์มากมายหลายประการ หนึ่งในนั้นที่ทำให้ศาสตราจารย์ชีววิทยา Kenneth Lohmann แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา รู้สึกทึ่งเป็นอย่างยิ่งก็คือเต่าทะเล ท่านกล่าวกับนักข่าว Voice of America ว่า “เมื่อลูกเต่าทะเลออกมาจากไข่ ก็คลานลงทะเล ท่องเที่ยวหากินไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลซึ่งมันไม่เคยรู้จักมาก่อน และพอถึงเวลาวางไข่ขยายพันธุ์ก็สามารถว่ายน้ำกลับมายังชายฝั่งทะเลถิ่นกำเนิดได้อย่างถูกต้อง มันทำได้อย่างไร? …มันมีเครื่องมือหรือญาณวิเศษอันใดช่วยนำทางมันกลับบ้าน”
นอกจากเต่าทะเล ยังมีสัตว์ที่มีการเคลื่อนย้ายกลับถิ่นเดิมอยู่อีกหลายอย่าง เช่น ฝูงวัวในทวีปแอฟริกา ปลาแซลมอน และนกบางชนิด มีนกนางแอ่น นกเป็ดน้ำ นกพิราบสื่อสาร เป็นต้น สัตว์เหล่านี้จะมีการอพยพเคลื่อนย้ายจากถิ่นฐานเดิมไปยังแหล่งต่างๆที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์หรือสถานที่ที่มีภูมิอากาศเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต และเมื่อถึงฤดูกาลที่เอื้ออำนวยหรือถึงระยะเวลาที่จะขยายพันธุ์ก็จะเดินทางกลับมายังถิ่นเดิม มันทำได้อย่างไร? ทำไมจึงไม่หลงทาง?
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สัตว์เหล่านี้อาศัยเครื่องช่วยหลายอย่างแตกต่างกัน เช่น ใช้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ ภูมิประเทศ กระแสน้ำอุ่นน้ำเย็นในมหาสมุทร เสียงคลื่นความถี่สูงที่มนุษย์ไม่ได้ยิน ประสาทสัมผัสทางจมูก เช่น กลิ่นฝน ตลอดจนสนามแม่เหล็กโลก ทั้งนี้สัตว์บางชนิดอาจอาศัยเครื่องช่วยหลายๆอย่างประกอบกัน
ในบรรดาสัตว์ที่มีการเคลื่อนย้ายกลับถิ่นเดิมนี้ ศาสตราจารย์ Lohmann สนใจเต่าทะเลและปลาแซลมอนเป็นพิเศษ เพราะในมหาสมุทรที่เวิ้งว้างกว้างใหญ่คงยากที่จะหาสิ่งใดเป็นที่สังเกตสำหรับการเดินทางกลับบ้าน หลังจากได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่นาน ก็ได้เสนอทฤษฎีเบื้องต้นโดยตั้งเป็นสมมุติฐานว่า เต่าทะเล ปลาแซลมอน นกนางแอ่น และนกเป็ดน้ำ ล้วนมีคุณสมบัติพิเศษอยู่สองประการ ประการแรกคือ มี particle ของสารแม่แหล็กในสมอง ซึ่งสามารถปรับตัวตามแนวเส้นแรงของสนามแม่เหล็กโลกได้คล้ายกับเข็มทิศ particle นี้จึงทำให้สามารถรับสัมผัสจากสนามแม่เหล็กโลกได้ และสามารถแยกความแตกต่างสนามแม่เหล็กโลกในแต่ละที่ได้ ส่วนคุณสมบัติอีกประการหนึ่งคือ มีกระบวนการเคมีพิเศษเกี่ยวกับการมองเห็น ช่วยให้มองเห็นสนามแม่เหล็กโลกหรือเห็นแสงที่มีลักษณะสีสันต่างกันตามอิทธิพลของสนามแม่เหล็กโลก กระบวนการเคมีพิเศษนี้จึงทำให้สามารถรับสัมผัสและแยกความแตกต่างสนามแม่เหล็กโลกในแต่ละที่ได้เช่นกัน
เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกในบริเวณต่างๆ ของพื้นโลกมีความแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองของสัตว์เหล่านี้สามารถบันทึกและจดจำลักษณะของสนามแม่เหล็กในถิ่นเดิมซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดของมันไว้ในสมองได้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเดินทางอพยพกลับถิ่นเดิม จึงใช้สนามแม่เหล็กโลกเป็นเข็มทิศ บอกทิศทางและตำแหน่งแห่งที่ได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาสตราจารย์ Lohmann จึงตั้งทฤษฎีในเชิงสมมุติฐานว่า คุณสมบัติของปลาแซลมอน เต่าทะเล นกนางแอ่น และนกเป็ดน้ำทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถรับสัมผัสและแยกความแตกต่างของสนามแม่เหล็กโลกในอาณาบริเวณต่างๆ ได้ และด้วยความสามารถทั้งสองประการนี่เองที่ทำให้สัตว์เหล่านี้สามารถเดินทางกลับมาถิ่นเดิมได้ถูกต้อง
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | เดินทางกลับมาถิ่นเดิมได้ถูกต้อง | ||||
02 | เต่าทะเล | ||||
03 | นกนางแอ่น | ||||
04 | นกเป็ดน้ำ | ||||
05 | ปลาแซลมอน | ||||
06 | มี particle ของสารแม่เหล็กในสมอง | ||||
07 | มีกระบวนการเคมีพิเศษเกี่ยวกับการมองเห็น | ||||
08 | สัตว์ที่มีการเคลื่อนย้ายกลับถิ่นฐานเดิม | ||||
09 | สามารถแยกความแตกต่างสนามแม่เหล็กโลกในแต่ละที่ | ||||
10 | สามารถรับสัมผัสจากสนามแม่เหล็กโลก |
บทความที่ 2 – อนาคตราคาสินค้าเกษตรของไทย
ครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2551 ถือเป็นปีทองของสินค้าเกษตรของไทย ราคาข้าวสูงขึ้นจนชาวนาเร่งปลูกข้าวกันเป็นการใหญ่ ส่วนชาวไร่ต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเพราะราคาข้าวโพดสูงขึ้น รวมทั้งมันสำปะหลังและผลผลิตทางการเกษตรประเภทอื่น เช่น ยางพารา แต่พอย่างเข้าช่วงครึ่งปีหลังราคาสินค้าเหล่านี้กลับลดลงเรื่อยๆจนเกษตรกร ทั้งชาวนาและชาวไร่ ต้องออกมาชุมนุมประท้วงปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ ปัจจัยอะไรช่วยให้ราคาสินค้าเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นในระยะแรก และเพราะเหตุใดราคาจึงตกลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีใหม่ 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เสนอบทวิเคราะห์บทนี้
คงจำกันได้ว่าในช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับสูงสุดคือ 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นแทบทุกประเภทรวมทั้งต้นทุนการผลิตสินค้าจำพวกอาหาร นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างคาดเดาไม่ถูกว่าจะไปหยุดที่จุดใด ยังเป็นเหตุให้เกิดการปลูกพืชทดแทนน้ำมันกันเป็นการใหญ่ รวมทั้งเกิดความพยายามหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทนพลังงานจากน้ำมัน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
การปลูกพืชทดแทนน้ำมันที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานได้ เช่น แอลกอฮอล์ ไบโอดีเซล ทำให้พื้นที่การเกษตรและผลผลิตอาหารลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการกักตุนอาหาร เพราะประเทศที่เน้นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและประเทศในตะวันออกกลางผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลายมีความวิตกว่าในอนาคตโลกจะขาดแคลนอาหาร
จากที่กล่าวมาข้างต้นคงเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าอาหาร ทั้งราคาข้าว ข้าวโพด และราคามันสำปะหลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการที่ผลผลิตอาหารลดลงเพราะหันไปใช้พื้นที่ปลูกพืชทดแทนน้ำมัน รวมทั้งการกักตุนอาหาร และการที่ต้นทุนการผลิตสินค้าจากน้ำมันแพงดังกล่าวข้างต้น ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หวังกันว่าอนาคตเกษตรกรไทยกำลังสดใส และชาวนาชาวไร่จะเริ่มลืมตาอ้าปากได้
แต่แล้วความหวังที่วาดไว้ก็เริ่มจางหายไปเมื่อปัญหาหนี้เสียของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯเริ่มพ่นพิษ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯประสบความหายนะถึงขั้นล้มละลาย ในเดือนกันยายนรัฐบาลสหรัฐต้องเข้าควบคุมกิจการของบริษัทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ของสหรัฐ 2 บริษัทคือ Fannie Mae และ Freddie Mac เนื่องจากปัญหาการขาดทุนในตลาดสินเชื่อ การเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่งนี้คือสัญญาณของวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในตลาดสินเชื่อของสหรัฐ ซึ่งต่อมาได้ส่งผลสะเทือนต่อตลาดการเงินโลกอย่างรุนแรง เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเรื่อยๆจนถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย
ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งเกิดจากปัญหาหนี้เสียดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดกว่าบาร์เรลละ 147 เหรียญสหรัฐฯลงมาเหลือประมาณ 40 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้ราคาข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลังลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรไทยในปี 2552 นี้ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ไว้ว่า ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลดถดถอยจะกระทบกับภาคการเกษตรของไทยในปี 2552 อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากสินค้าเกษตรและอาหารยังมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจไม่สาหัสเหมือนภาคอุตสาหกรรม
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | การกักตุนอาหาร | |||
12 | ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น | |||
13 | ปลูกพืชทดแทนน้ำมัน | |||
14 | ปัญหาหนี้เสียของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ | |||
15 | พื้นที่การเกษตรและผลผลิตอาหารลดลง | |||
16 | ราคาข้าวโพดสูงขึ้น | |||
17 | ราคาข้าวสูงขึ้น | |||
18 | ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น | |||
19 | ราคามันสำปะหลังสูงขึ้น | |||
20 | เศรษฐกิจโลกถดถอย |
เฉลย
บทความที่ 1 – สัตว์อพยพเคลื่อนย้ายกลับถิ่นกำเนิดได้อย่างไร
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||||
---|---|---|---|---|---|---|
01 | เดินทางกลับมาถิ่นเดิมได้ถูกต้อง | 99H | ||||
02 | เต่าทะเล | 06D | 07D | |||
03 | นกนางแอ่น | 06D | 07D | |||
04 | นกเป็ดน้ำ | 06D | 07D | |||
05 | ปลาแซลมอน | 06D | 07D | |||
06 | มี particle ของสารแม่เหล็กในสมอง | 09A | 10A | |||
07 | มีกระบวนการเคมีพิเศษเกี่ยวกับการมองเห็น | 09A | 10A | |||
08 | สัตว์ที่มีการเคลื่อนย้ายกลับถิ่นฐานเดิม | 02D | 03D | 04D | 05D | |
09 | สามารถแยกความแตกต่างสนามแม่เหล็กโลกในแต่ละที่ | 01A | ||||
10 | สามารถรับสัมผัสจากสนามแม่เหล็กโลก | 01A |
บทความที่ 2 – อนาคตราคาสินค้าเกษตรของไทย
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | การกักตุนอาหาร | 16A | 17A | 19A | |
12 | ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น | 16A | 17A | 19A | |
13 | ปลูกพืชทดแทนน้ำมัน | 15A | |||
14 | ปัญหาหนี้เสียของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ | 20A | |||
15 | พื้นที่การเกษตรและผลผลิตอาหารลดลง | 11A | 16A | 17A | 19A |
16 | ราคาข้าวโพดสูงขึ้น | 99H | |||
17 | ราคาข้าวสูงขึ้น | 99H | |||
18 | ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น | 12A | 13A | ||
19 | ราคามันสำปะหลังสูงขึ้น | 99H | |||
20 | เศรษฐกิจโลกถดถอย | 16F | 17F | 18F | 19F |