ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – เหตุใดจึงคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ข่าวที่หลายคนให้ความสนใจคือการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ได้ออกเดินทางจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มุ่งหน้าไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
เขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการสร้างเขื่อนที่บริเวณเขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 57 เมตร กว้าง 10 เมตร สันเขื่อนยาว 730 เมตร เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท เป็นเขื่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จจะมีพื้นที่น้ำท่วมอย่างน้อย 12,375 ไร่
เขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์หรือข้อดีอย่างไรจึงทำให้รัฐบาลพยายามผลักดันให้สร้างเขื่อนนี้ ที่จริงกรมชลประทานริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 แต่ถูกตีกลับจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายครั้งให้ไปศึกษาผลกระทบต่างๆ เพิ่มเติม ครั้งหลังสุดคือปี พ.ศ. 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติยังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าเขื่อนนี้มีข้อดีคือ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม และจะช่วยลดปัญหาภัยแล้งได้อีกด้วย
ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน คือเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ 24 องค์กร โดยมีนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นแกนนำในการเดินคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ได้หยิบยกข้อเสียหรือผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาคัดค้านการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA: Environment and Health Impact Assessment) ที่ยังละเลยข้อมูลสำคัญทางธรรมชาติและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก
จากเรื่อง “ทำไม!!….ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์” ของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม และเรื่อง “เมื่อแก้น้ำท่วมไม่ได้ แก้ภัยแล้งไม่ได้ แล้วเหตุผลของ ‘เขื่อนแม่วงก์’ คืออะไร?” ของมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีกลาย ได้กล่าวถึงข้อเสียของเขื่อนไว้หลายประการ เช่น ทำลายป่าต้นน้ำ ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า จะเกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก และสูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ตัวอย่างข้อเสียดังกล่าวเกิดเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ กล่าวคือ บริเวณที่น้ำจะท่วมกว่า 12,000 ไร่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่ราบต่ำริมน้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก การที่ใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปี จะทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก โดยเฉพาะส่วนที่นอกเหนือจากไม้ในบริเวณที่น้ำจะท่วม รวมทั้งทำให้ลักลอบล่าสัตว์ป่าได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญอีกข้อคือ การที่เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 คือเพียงร้อยละ 1 และสามารถจ่ายน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรบริเวณใต้เขื่อนได้เพียงบางส่วน ไม่คุ้มการลงทุนและการสูญเสียระบบนิเวศ การที่เก็บน้ำได้น้อยดังกล่าวทำให้ลดข้อดีของเขื่อนทั้งสองข้อที่กล่าวข้างต้น คือแก้ปัญหาน้ำท่วมและลดปัญหาภัยแล้ง
ส่วนรัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนให้สร้างเขื่อนก็โต้แย้งว่า เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องมองในภาพรวมของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ซึ่งมีทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และเล็กหลายๆ เขื่อน รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ พื้นที่ป่าเหนือเขื่อนที่น้ำจะท่วมก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผืนป่าตะวันตกทั้งหมด ส่วนการโจมตีเรื่องการให้ความเห็นชอบกับรายงาน EHIA นั้น รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 16 กันยายนว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีมติให้กรมชลประทานกลับไปทำรายงานเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการนำรายงานฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอีกครั้ง
ขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ยังไม่ทราบว่าเรื่องเขื่อนแม่วงก์จะลงเอยอย่างไร แต่คาดว่าคงเป็นเรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
01 | เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร | |||
02 | เกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก | |||
03 | แก้ปัญหาน้ำท่วม | |||
04 | ข้อเสียหรือผลกระทบ | |||
05 | เขื่อนแม่วงก์ | |||
06 | ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า | |||
07 | ประโยชน์ | |||
08 | เป็นเขื่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี | |||
09 | ลดปัญหาภัยแล้ง | |||
10 | สูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า |
บทความที่ 2 – ราคายางตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยางปิดถนน
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวเกษตรกรสวนยางทางภาคใต้ออกมาประท้วงปิดถนนเป็นระยะๆ ทำให้การสัญจรทางรถยนต์ไปมาภาคใต้แทบเป็นอัมพาตหลายครั้ง ปัญหาสำคัญก็คือเกษตรกรชาวสวนยางขาดทุน จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจังเพื่อให้ราคายางสูงขึ้น เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลงเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน ให้เงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ มาตรการนี้ชาวสวนยางยังไม่พอใจ เป็นแต่เพียง “ยอมรับสภาพ” ตามที่ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย คุณเพิก เลิศวังพง กล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน ในรายการ ตอบโจทย์ไทยพีบีเอส ต่อมาเหตุการณ์ที่สงบไปกลับวุ่นวายขึ้นมาอีกเมื่อชาวบ้านมาปักหลักเปิดเวทีปราศรัยปิดถนนเพชรเกษม อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงค่ำวันที่ 26 ตุลาคม เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้ราคายางพาราเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท และปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 6 บาท ขณะที่เขียนบทความนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไร ระหว่างรอสถานการณ์ จึงขอหยิบยกเรื่องการขาดทุนของชาวสวนยาง ซึ่งเป็นต้นเหตุของการประท้วงปิดถนนขึ้นมาวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดทุนของเกษตรกรชาวสวนยางประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่ามีอยู่หลายประการ
ประการแรกก็คือราคายางในตลาดโลกตกต่ำ ราคายางพาราในตลาดโลกจะขึ้นหรือลงขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความต้องการยางจากต่างประเทศ ราคาน้ำมัน อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมยานยนต์ และราคาตลาดล่วงหน้า สำหรับความต้องการยางจากต่างประเทศลดลง จะทำให้ราคายางในตลาดโลกลดลง สำหรับราคาน้ำมันนั้นคงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีผลต่อราคายางอย่างไร ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น การทำยางสังเคราะห์จะลดลงเพราะต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันด้วย จึงหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ราคายางสูงขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกมีผลตรงไปตรงมา ขณะนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ราคายางในตลาดโลกตกต่ำ เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้ราคาตลาดโลกกำหนดโดยผู้ซื้อ ในฐานะที่ประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ของโลกเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน จึงควรเร่งดำเนินการร่วมมือกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาตลาดโลก
ประการต่อมาคือความต้องการใช้ยางในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ความต้องการในประเทศจะไม่มีบทบาทต่อราคายางสูงเท่าความต้องการของตลาดโลก แต่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ปรากฏว่าอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ได้รับการส่งเสริมจนเป็นสินค้าส่งออก ดังนั้นเพื่อลดปัญหาประการนี้ ไทยจะต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศอย่างจริงจัง คือสนับสนุนอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา
ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือพันธุ์ต้นยางของไทยไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ต้นยางของเราเริ่มให้น้ำยางช้ากว่าและปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างที่นิยมพูดๆ กัน ก็คือการพัฒนาพันธุ์ยาง เพื่อลดปัญหาเรื่องพันธุ์ยางซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำก็คือปรับปรุงประสิทธิภาพการทำยางแผ่น และปลายน้ำก็คือส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมทั้งการรวมตัวกันของประเทศผู้ปลูกยางในกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างพลังในการกำหนดราคาตลาดโลกดังกล่าวข้างต้น
ประการสุดท้ายที่จะยกมากล่าวในบทความนี้คือเรื่องต้นทุนของชาวสวนยางสูง ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนค่าแรงกรีดยาง และต้นทุนค่าปุ๋ย เรื่องการใช้ปุ๋ยน้ำนักวิชาการแนะนำว่าควรศึกษากันอย่างจริงจังว่าในขณะนี้ให้ปุ๋ยเหมาะสมหรือไม่ ให้มากเกินไปหรือถี่เกินจำเป็นหรือเปล่า หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะลดต้นทุนได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ส่วนเรื่องต้นทุนค่าแรงนั้นคงลดได้ยาก
เพราะปฏิบัติกันมานานแล้วว่าจะแบ่งให้คนกรีดยางซึ่งต้องทำงานหนักมากร้อยละ 40 หรือ 50 ของราคายาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมก็ว่าได้ ไม่เหมือนกับทางมาเลเซียที่ให้ค่าแรงเป็นรายวัน
ที่กล่าวมาได้พูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวไว้ด้วย ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นคือการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ปิดถนนประท้วงนั้น ก็ขอภาวนาให้ลงเอยกันได้ด้วยดี อย่าให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นที่บริเวณควนหนองหงส์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 อีก
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | การพัฒนาพันธุ์ยาง | |||
12 | ความต้องการใช้ยางในประเทศอยู่ในระดับต่ำ | |||
13 | ต้นทุนของชาวสวนยางสูง | |||
14 | ต้นทุนค่าปุ๋ย | |||
15 | ต้นทุนค่าแรง | |||
16 | ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดทุน | |||
17 | พันธุ์ต้นยางของไทยไม่ดีพอ | |||
18 | ราคายางในตลาดโลกตกต่ำ | |||
19 | เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร | |||
20 | สนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศ |
เฉลย
บทความที่ 1 – เหตุใดจึงคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร | 03F | 09F | ||
02 | เกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก | 99H | |||
03 | แก้ปัญหาน้ำท่วม | 99H | |||
04 | ข้อเสียหรือผลกระทบ | 02D | 06D | 10D | |
05 | เขื่อนแม่วงก์ | 01D | 04D | 07D | 08D |
06 | ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า | 99H | |||
07 | ประโยชน์ | 03D | 09D | ||
08 | เป็นเขื่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี | 02A | 06A | ||
09 | ลดปัญหาภัยแล้ง | 99H | |||
10 | สูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า | 99H |
บทความที่ 2 – ราคายางตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยางปิดถนน
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | การพัฒนาพันธุ์ยาง | 17F | |||
12 | ความต้องการใช้ยางในประเทศอยู่ในระดับต่ำ | 99H | |||
13 | ต้นทุนของชาวสวนยางสูง | 14D | 15D | ||
14 | ต้นทุนค่าปุ๋ย | 99H | |||
15 | ต้นทุนค่าแรง | 99H | |||
16 | ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดทุน | 12D | 13D | 17D | 18D |
17 | พันธุ์ต้นยางของไทยไม่ดีพอ | 99H | |||
18 | ราคายางในตลาดโลกตกต่ำ | 99H | |||
19 | เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร | 18A | |||
20 | สนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศ | 12F |