ข้อสอบ GAT1 มีนาคม 2557

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที

บทความที่ 1 – เหตุใดจึงคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ข่าวที่หลายคนให้ความสนใจคือการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ได้ออกเดินทางจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ มุ่งหน้าไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์

เขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการสร้างเขื่อนที่บริเวณเขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มีลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 57 เมตร กว้าง 10 เมตร สันเขื่อนยาว 730 เมตร เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท เป็นเขื่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จจะมีพื้นที่น้ำท่วมอย่างน้อย 12,375 ไร่

เขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์หรือข้อดีอย่างไรจึงทำให้รัฐบาลพยายามผลักดันให้สร้างเขื่อนนี้ ที่จริงกรมชลประทานริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 แต่ถูกตีกลับจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายครั้งให้ไปศึกษาผลกระทบต่างๆ เพิ่มเติม ครั้งหลังสุดคือปี พ.ศ. 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติยังไม่เห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กรมชลประทานหาทางเลือกของที่ตั้งโครงการ และศึกษาเพิ่มเติมการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบในลักษณะบูรณาการ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยรวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าเขื่อนนี้มีข้อดีคือ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม และจะช่วยลดปัญหาภัยแล้งได้อีกด้วย

ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน คือเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างๆ 24 องค์กร โดยมีนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นแกนนำในการเดินคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ได้หยิบยกข้อเสียหรือผลกระทบของเขื่อนแม่วงก์ขึ้นมาคัดค้านการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA: Environment and Health Impact Assessment) ที่ยังละเลยข้อมูลสำคัญทางธรรมชาติและระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

จากเรื่อง “ทำไม!!….ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์” ของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม และเรื่อง “เมื่อแก้น้ำท่วมไม่ได้ แก้ภัยแล้งไม่ได้ แล้วเหตุผลของ ‘เขื่อนแม่วงก์’ คืออะไร?” ของมูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีกลาย ได้กล่าวถึงข้อเสียของเขื่อนไว้หลายประการ เช่น ทำลายป่าต้นน้ำ ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า จะเกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก และสูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ตัวอย่างข้อเสียดังกล่าวเกิดเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ กล่าวคือ บริเวณที่น้ำจะท่วมกว่า 12,000 ไร่เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่ราบต่ำริมน้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก การที่ใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปี จะทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก โดยเฉพาะส่วนที่นอกเหนือจากไม้ในบริเวณที่น้ำจะท่วม รวมทั้งทำให้ลักลอบล่าสัตว์ป่าได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสำคัญอีกข้อคือ การที่เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 คือเพียงร้อยละ 1 และสามารถจ่ายน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรบริเวณใต้เขื่อนได้เพียงบางส่วน ไม่คุ้มการลงทุนและการสูญเสียระบบนิเวศ การที่เก็บน้ำได้น้อยดังกล่าวทำให้ลดข้อดีของเขื่อนทั้งสองข้อที่กล่าวข้างต้น คือแก้ปัญหาน้ำท่วมและลดปัญหาภัยแล้ง

ส่วนรัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนให้สร้างเขื่อนก็โต้แย้งว่า เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมต้องมองในภาพรวมของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ซึ่งมีทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และเล็กหลายๆ เขื่อน รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ พื้นที่ป่าเหนือเขื่อนที่น้ำจะท่วมก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผืนป่าตะวันตกทั้งหมด ส่วนการโจมตีเรื่องการให้ความเห็นชอบกับรายงาน EHIA นั้น รัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 16 กันยายนว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีมติให้กรมชลประทานกลับไปทำรายงานเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการนำรายงานฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอีกครั้ง

ขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ยังไม่ทราบว่าเรื่องเขื่อนแม่วงก์จะลงเอยอย่างไร แต่คาดว่าคงเป็นเรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร
02 เกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก
03 แก้ปัญหาน้ำท่วม
04 ข้อเสียหรือผลกระทบ
05 เขื่อนแม่วงก์
06 ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า
07 ประโยชน์
08 เป็นเขื่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี
09 ลดปัญหาภัยแล้ง
10 สูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

บทความที่ 2 – ราคายางตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยางปิดถนน

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวเกษตรกรสวนยางทางภาคใต้ออกมาประท้วงปิดถนนเป็นระยะๆ ทำให้การสัญจรทางรถยนต์ไปมาภาคใต้แทบเป็นอัมพาตหลายครั้ง ปัญหาสำคัญก็คือเกษตรกรชาวสวนยางขาดทุน จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจังเพื่อให้ราคายางสูงขึ้น เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลงเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน ให้เงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ มาตรการนี้ชาวสวนยางยังไม่พอใจ เป็นแต่เพียง “ยอมรับสภาพ” ตามที่ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย คุณเพิก เลิศวังพง กล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน ในรายการ ตอบโจทย์ไทยพีบีเอส ต่อมาเหตุการณ์ที่สงบไปกลับวุ่นวายขึ้นมาอีกเมื่อชาวบ้านมาปักหลักเปิดเวทีปราศรัยปิดถนนเพชรเกษม อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงค่ำวันที่ 26 ตุลาคม เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้ราคายางพาราเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 100 บาท และปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 6 บาท ขณะที่เขียนบทความนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไร ระหว่างรอสถานการณ์ จึงขอหยิบยกเรื่องการขาดทุนของชาวสวนยาง ซึ่งเป็นต้นเหตุของการประท้วงปิดถนนขึ้นมาวิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดทุนของเกษตรกรชาวสวนยางประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่ามีอยู่หลายประการ

ประการแรกก็คือราคายางในตลาดโลกตกต่ำ ราคายางพาราในตลาดโลกจะขึ้นหรือลงขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความต้องการยางจากต่างประเทศ ราคาน้ำมัน อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมยานยนต์ และราคาตลาดล่วงหน้า สำหรับความต้องการยางจากต่างประเทศลดลง จะทำให้ราคายางในตลาดโลกลดลง สำหรับราคาน้ำมันนั้นคงเป็นที่น่าสงสัยว่ามีผลต่อราคายางอย่างไร ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น การทำยางสังเคราะห์จะลดลงเพราะต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันด้วย จึงหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ราคายางสูงขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกมีผลตรงไปตรงมา ขณะนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ราคายางในตลาดโลกตกต่ำ เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้ราคาตลาดโลกกำหนดโดยผู้ซื้อ ในฐานะที่ประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ของโลกเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน จึงควรเร่งดำเนินการร่วมมือกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาตลาดโลก

ประการต่อมาคือความต้องการใช้ยางในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ความต้องการในประเทศจะไม่มีบทบาทต่อราคายางสูงเท่าความต้องการของตลาดโลก แต่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ปรากฏว่าอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ได้รับการส่งเสริมจนเป็นสินค้าส่งออก ดังนั้นเพื่อลดปัญหาประการนี้ ไทยจะต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศอย่างจริงจัง คือสนับสนุนอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์จากยางพารา

ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือพันธุ์ต้นยางของไทยไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ต้นยางของเราเริ่มให้น้ำยางช้ากว่าและปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างที่นิยมพูดๆ กัน ก็คือการพัฒนาพันธุ์ยาง เพื่อลดปัญหาเรื่องพันธุ์ยางซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ส่วนกลางน้ำก็คือปรับปรุงประสิทธิภาพการทำยางแผ่น และปลายน้ำก็คือส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมทั้งการรวมตัวกันของประเทศผู้ปลูกยางในกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างพลังในการกำหนดราคาตลาดโลกดังกล่าวข้างต้น

ประการสุดท้ายที่จะยกมากล่าวในบทความนี้คือเรื่องต้นทุนของชาวสวนยางสูง ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนค่าแรงกรีดยาง และต้นทุนค่าปุ๋ย เรื่องการใช้ปุ๋ยน้ำนักวิชาการแนะนำว่าควรศึกษากันอย่างจริงจังว่าในขณะนี้ให้ปุ๋ยเหมาะสมหรือไม่ ให้มากเกินไปหรือถี่เกินจำเป็นหรือเปล่า หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะลดต้นทุนได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ส่วนเรื่องต้นทุนค่าแรงนั้นคงลดได้ยาก
เพราะปฏิบัติกันมานานแล้วว่าจะแบ่งให้คนกรีดยางซึ่งต้องทำงานหนักมากร้อยละ 40 หรือ 50 ของราคายาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมก็ว่าได้ ไม่เหมือนกับทางมาเลเซียที่ให้ค่าแรงเป็นรายวัน

ที่กล่าวมาได้พูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวไว้ด้วย ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นคือการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ปิดถนนประท้วงนั้น ก็ขอภาวนาให้ลงเอยกันได้ด้วยดี อย่าให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นที่บริเวณควนหนองหงส์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 อีก

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การพัฒนาพันธุ์ยาง
12 ความต้องการใช้ยางในประเทศอยู่ในระดับต่ำ
13 ต้นทุนของชาวสวนยางสูง
14 ต้นทุนค่าปุ๋ย
15 ต้นทุนค่าแรง
16 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดทุน
17 พันธุ์ต้นยางของไทยไม่ดีพอ
18 ราคายางในตลาดโลกตกต่ำ
19 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร
20 สนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศ

เฉลย

บทความที่ 1 – เหตุใดจึงคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 เก็บน้ำได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร 03F 09F
02 เกิดการลักลอบตัดไม้จำนวนมาก 99H
03 แก้ปัญหาน้ำท่วม 99H
04 ข้อเสียหรือผลกระทบ 02D 06D 10D
05 เขื่อนแม่วงก์ 01D 04D 07D 08D
06 ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า 99H
07 ประโยชน์ 03D 09D
08 เป็นเขื่อนที่จะใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี 02A 06A
09 ลดปัญหาภัยแล้ง 99H
10 สูญเสียแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 99H

บทความที่ 2 – ราคายางตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยางปิดถนน

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 การพัฒนาพันธุ์ยาง 17F
12 ความต้องการใช้ยางในประเทศอยู่ในระดับต่ำ 99H
13 ต้นทุนของชาวสวนยางสูง 14D 15D
14 ต้นทุนค่าปุ๋ย 99H
15 ต้นทุนค่าแรง 99H
16 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขาดทุน 12D 13D 17D 18D
17 พันธุ์ต้นยางของไทยไม่ดีพอ 99H
18 ราคายางในตลาดโลกตกต่ำ 99H
19 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร 18A
20 สนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำในประเทศ 12F

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress