ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – พิษภัยของการบริโภคอาหารรสเค็ม
ผู้ที่สนใจดูแลรักษาสุขภาพตนเองคงสังเกตเห็นว่าในสื่อหลายแหล่ง ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ ได้ให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารรสเค็มซึ่งมีโซเดียมสูงว่าทำให้เกิดโรคได้หลายโรค ขณะเขียนบทความนี้ สื่อของเครือข่ายลดบริโภคเค็มกำลังเสนอให้เก็บภาษีความเค็มจากอาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ที่มีความเค็มสูงและกรมสรรพสามิตก็กำลังพิจารณาว่าจะเก็บภาษีความเค็มหรือไม่อย่างไร
แหล่งโซเดียมสำคัญที่สุดที่เข้าสู่ร่างกายด้วยการบริโภคก็คือ เกลือ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบได้กับเกลือ 5 กรัมหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน จากผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ได้รับโซเดียมเกินกว่าสองเท่าของปริมาณที่ควรได้รับ โซเดียมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความสมดุลของความเป็นกรดด่างและปริมาณน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในภาวะปกติโซเดียมส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำส่วนที่อยู่นอกเซลล์และในเลือดส่วนที่เรียกว่า พลาสมา เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไปก็จะดึงน้ำออกจากเซลล์มาคั่งอยู่นอกเซลล์และคั่งในหลอดเลือด ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและโซเดียมในอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ไตก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นในการขับโซเดียมออกจากร่างกาย ดังนั้นการบริโภคอาหารรสเค็มจัดจึงทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองและโรคไต เป็นต้น
ในการประชุมพิจารณามาตรการการควบคุมโซเดียมในอาหารเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การอนามัยโลก มีข้อมูลว่าคนไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 21.4 หรือ 11.5 ล้านคน โรคไตร้อยละ 17.5 หรือ 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 1.4 หรือ 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมองร้อยละ 1.1 หรือ 0.5 ล้านคน โดยโรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องของประชาชนที่ชื่นชอบอาหารรสชาติเค็ม ซึ่งเป็นอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง
เมื่อทราบถึงพิษภัยของการบริโภคอาหารรสเค็ม ก็ควรหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น จากข้อมูลของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรกคือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรมนั้น ล้วนแต่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 6,000 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,160 – 1,420 มิลลิกรัม ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,150 มิลลิกรัม กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 1,430 – 1,490 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 420 – 490 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักของคนไทย มากกว่าร้อยละ 30 จะซื้อกินนอกบ้านทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น ข้าราชการ นักเรียน นิสิตนักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างทั่วไป และมากกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลซื้ออาหารกลางวันนอกบ้าน อาหารที่รับประทานบ่อยในแต่ละวันได้แก่ ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว และอาหารตามสั่ง
ขณะนี้องค์กรหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ทำการรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็มกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารในหมู่ประชาชนจำนวนไม่น้อย ได้แก่ ปรับเปลี่ยนนิสัยให้กินอาหารจืดลง รับประทานอาหารสดตามธรรมชาติ ชิมอาหารก่อนเติมเครื่องปรุงรส ปรุงอาหารโดยเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสต่างๆ ให้น้อยที่สุด เพื่อให้คุ้นเคยกับอาหารรสจืด หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เช่น ปลาเค็ม หมูเค็ม เนื้อเค็ม เบคอน ไส้กรอก ลดหรือเลิกการใส่ผงชูรสในอาหาร เพราะผงชูรสก็คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต หากใส่มากและบ่อยเกินไปร่างกายจะได้รับโซเดียมมาก ไม่กินอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปที่มีเกลือปริมาณมาก
การรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็มของภาคส่วนต่างๆ นอกจากทำให้พฤติกรรมการกินอาหารเค็มเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ยังทำให้อาหารหลายอย่างมีการปรับปรุงสูตร ตัวอย่างเช่น ซอสปรุงรสลดโซเดียม น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ น้ำมะเขือเทศดอยคำสูตรโซเดียมต่ำ ปลาร้าลดโซเดียม นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อเพื่อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ออกมาตรการลดปริมาณโซเดียมลงร้อยละ 10 ในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อภายในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นอาหารใกล้ตัวและเป็นที่นิยมอย่างมากนั้น ในแต่ละซองประกอบด้วยผงปรุงรสที่มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ยถึง 1,500 – 2,000 มิลลิกรัมซึ่งเกือบเท่าหรือเท่ากับปริมาณทั้งหมดที่ควรบริโภคในแต่ละวัน ขณะเขียนบทความนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 23,000 คน
พฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอาหารสูตรโซเดียมต่ำหรือสูตรลดโซเดียมดังตัวอย่างที่กล่าวมา จะสามารถป้องกันหรือลดโรคทั้งหลายที่เกิดจากการบริโภคอาหารรสเค็มได้ ดังนั้นนักเรียน นิสิตนักศึกษาซึ่งจะเป็นกำลังสาคัญในการพัฒนาประเทศชาติ จึงควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องในการบริโภคอาหาร ทั้งนี้นอกจากลดเค็ม ยังต้องลดหวาน ลดมัน และควรให้ความรู้แก่พ่อแม่ตลอดจนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงด้วย
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การบริโภคอาหารรสเค็ม | ||||
02 | การรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็ม | ||||
03 | ความดันโลหิตสูง | ||||
04 | น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ | ||||
05 | ปรับเปลี่ยนนิสัยให้กินอาหารจืดลง | ||||
06 | ปลาร้าลดโซเดียม | ||||
07 | โรคไต | ||||
08 | โรคหัวใจขาดเลือด | ||||
09 | หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม | ||||
10 | อาหารหลายอย่างมีการปรับปรุงสูตร |
บทความที่ 2 – ธนาคารปูม้า
ช่วงหยุดยาวเสาร์อาทิตย์ต่อเนื่องวันรัฐธรรมนูญ เพื่อนชวนผู้เขียนไปเที่ยวระยองและจันทบุรี ขณะนั่งกินปูม้านึ่งที่แสนอร่อย เพื่อนเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้มีปูม้ากินตลอดทั้งปีเพราะมีธนาคารปูม้า ด้วยความสนใจจึงหาข้อมูลเพิ่มเติมจนได้ความรู้เรื่องธนาคารปูม้าจากสื่อหลายรายการมาเล่าสู่กันฟัง เช่น จากรายการเดินหน้าประเทศไทย กบนอกกะลา และรายการไปตามฝัน
ปัจจุบันมีธนาคารปูม้าอยู่หลายร้อยแห่งตามจังหวัดที่อยู่ริมทะเล ตัวอย่างที่จะกล่าวในบทความนี้เป็นกิจกรรมของธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในพระราชดำริซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
หลายปีก่อนหน้านี้จำนวนปูม้าในทะเลลดลงอย่างมาก ชาวประมงต้องออกเรือไปไกลกว่าเดิมเพื่อจับปลามาทดแทน บ้างก็เลิกทำประมงไปหางานอื่นทำ สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลงมีหลายประการ ที่สำคัญคือ จับปูม้าจำนวนมากเกินไป โดยทั่วไปชาวประมงชายฝั่งจะใช้ลอบสำหรับดักปูวางไว้หลายๆ จุดในทะเลหรือจับปูโดยใช้อวนขนาดเล็ก แต่เมื่อปูม้าเป็นที่นิยมและราคาสูงขึ้นก็จับปูกันอย่างมากมายโดยใช้เครื่องมือทำประมงทุกรูปแบบ บางท้องที่เจออวนลากอวนรุนของเรือประมงขนาดใหญ่ชาวประมงชายฝั่งก็แทบหมดทางทำมาหากิน เมื่อจับปูกันมากเช่นนี้การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติก็ย่อมไม่ทันกับจำนวนที่ถูกจับไป นอกจากจะจับปูไปเป็นจำนวนมาก ยังมีสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ตัดวงจนการขยายพันธุ์ของปูม้า เนื่องจากชาวประมงไม่ได้แยกแยะว่าปูที่จับได้นั้นมีขนาดเล็กเกินไปหรือไม่ หรือว่าเป็นปูไข่ที่กำลังจะขยายพันธุ์
ในปัจจุบันชุมชนชาวประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเข้มแข็ง โดยได้กำหนดกติการ่วมกันว่าจะไม่จับปูกันอย่างไม่บันยะบันยัง จะช่วยกันดูแลไม่ให้เรือประมงขนาดใหญ่ที่ใช้อวนลากหรืออวนรุนซึ่งผิดกฎหมายเข้ามาจับสัตว์น้ำในเขตประมงชายฝั่ง ตาข่ายของอวนหรือลอบที่ใช้จับปูจะต้องมีตาขนาดใหญ่เพื่อไม่ให้ติดปูที่มีขนาดเล็ก และหากมีปูขนาดเล็กติดมาในอวนหรือในลอบดักปูก็จะปล่อยลงทะเลเพื่อให้มีโอกาสเติบโตและขยายพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ชาวประมงพื้นบ้านตกลงกันว่า ถ้าปูที่มีขนาดต่ำกว่า 8 เซนติเมตรจะปล่อยกลับลงสู่ทะเล และปีต่อไปจะเพิ่มเป็น 10 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงที่สำคัญคือ หากจับได้ปูไข่ที่มีไข่ออกมาอยู่นอกกระดองก็จะรวบรวมไข่ปูไปส่งให้ธนาคารปูม้าเพื่อทำการเพาะพันธุ์ปูม้าต่อไป ความร่วมมือของชุมชนชาวประมงดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุทั้งสองประการที่ทำให้จานวนปูม้าลดลงได้เป็นอย่างดี และทำให้ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น
งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มีหลายอย่าง กิจกรรมของธนาคารปูม้าเป็นงานส่วนหนึ่งของศูนย์นี้โดยมีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบริเวณหาดเจ้าหลาว อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามชัย อำเภอนายายอามให้ความร่วมมือ เมื่อชาวประมงจับปูมาได้ก็จะแยกปูม้าที่มีไข่ติดอยู่นอกกระดองออกมา ชาวประมงจะใช้แปรงขนนิ่มช่วยกันเขี่ยไข่ปูลงไปในถังน้ำ แล้วรวบรวมไปส่งให้ธนาคารปูม้า หลังจากนั้นจะเทไข่ปูลงไปในถังเพาะฟักซึ่งมีอยู่หลายถังเชื่อมต่อกันและมีระบบเติมน้ำหมุนเวียน เมื่อไข่ปูฟักเป็นตัว ลูกปูจะว่ายน้ำขึ้นมาหาแสงที่ด้านบนซึ่งมีท่อน้ำล้นให้ลูกปูไหลลงไปในสวิง แล้วรวบรวมลูกปูใส่ถังน้ำเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำที่เหมาะสม
ธนาคารปูม้ามีข้อมูลว่า ปูไข่นอกกระดองหนึ่งตัวจะมีไข่ประมาณ 300,000 ถึง 700,000 ฟอง จะเหลือรอดได้เป็นปูประมาณร้อยละ 1 คือประมาณ 3,000 – 7,000 ตัว ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว ดังนั้นกิจกรรมของธนาคารปูม้าจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น
นอกจากการดำเนินกิจกรรมของธนาคารปูม้า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังได้ดำเนินงานอีกหลายอย่างที่เป็นการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเลบริเวณพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียงให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ ดังนั้นงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จึงสามารถแก้ไขหรือลดปัญหาอีกสองประการที่เป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลง ประการแรกคือ แก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์ทะเลทั้งหลายรวมทั้งปูม้า และอีกประการหนึ่งคือ แก้ปัญหาแหล่งน้ำบริเวณป่าชายเลนเน่าเสียซึ่งทำให้ตัวอ่อนของสัตว์ทะเลเติบโตได้ยากหรือตายไป ดังนั้นงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ที่นอกเหนือจากงานธนาคารปูม้า จึงเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นเนื่องจากปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายปู ครอบครัวของชาวประมงยังมีงานทำที่สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยจากการต้มหรือนึ่งปูและแกะเนื้อปูขายให้นักท่องเที่ยงรับประทาน
งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในพระราชดาริ ได้ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มจำนวนปูม้าอย่างมีประสิทธิผล เป็นต้นแบบของธนาคารปูม้าในท้องที่ต่างๆ และช่วยให้ทรัพยากรจากท้องทะเลคืนความอุดมสมบูรณ์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | การบุกรุกทำลายป่าชายเลน | ||||
12 | กิจกรรมของธนาคารปูม้า | ||||
13 | ความร่วมมือของชุมชนชาวประมง | ||||
14 | งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ | ||||
15 | จับปูม้าจำนวนมากเกินไป | ||||
16 | ชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น | ||||
17 | ตัดวงจนการขยายพันธุ์ของปูม้า | ||||
18 | ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น | ||||
19 | สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลง | ||||
20 | แหล่งน้ำบริเวณป่าชายเลนเน่าเสีย |
เฉลย
บทความที่ 1 – พิษภัยของการบริโภคอาหารรสเค็ม
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การบริโภคอาหารรสเค็ม | 03A | 07A | 08A | |
02 | การรณรงค์ให้ลดการบริโภคเค็ม | 05A | 09A | 10A | |
03 | ความดันโลหิตสูง | 99H | |||
04 | น้ำปลาสูตรโซเดียมต่ำ | 03F | 07F | 08F | |
05 | ปรับเปลี่ยนนิสัยให้กินอาหารจืดลง | 03F | 07F | 08F | |
06 | ปลาร้าลดโซเดียม | 03F | 07F | 08F | |
07 | โรคไต | 99H | |||
08 | โรคหัวใจขาดเลือด | 99H | |||
09 | หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม | 03F | 07F | 08F | |
10 | อาหารหลายอย่างมีการปรับปรุงสูตร | 04D | 06D |
บทความที่ 2 – ธนาคารปูม้า
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | การบุกรุกทำลายป่าชายเลน | 99H | |||
12 | กิจกรรมของธนาคารปูม้า | 18A | |||
13 | ความร่วมมือของชุมชนชาวประมง | 15F | 17F | 18A | |
14 | งานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ | 11F | 12D | 18A | 20F |
15 | จับปูม้าจำนวนมากเกินไป | 99H | |||
16 | ชาวประมงมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น | 99H | |||
17 | ตัดวงจนการขยายพันธุ์ของปูม้า | 99H | |||
18 | ปูม้าในทะเลมีจำนวนเพิ่มขึ้น | 16A | |||
19 | สาเหตุที่ทำให้จำนวนปูม้าลดลง | 11D | 15D | 17D | 20D |
20 | แหล่งน้ำบริเวณป่าชายเลนเน่าเสีย | 99H |