ข้อสอบ GAT1 กุมภาพันธ์ 2563

ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)

บทความที่ 1 – ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร

สารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่ใช้อย่างแพร่หลายและใช้เป็นจํานวนมากมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพรีฟอส ขณะเขียนบทความนี้กําลังมีประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและโต้เถียงอย่างกว้างขวางคือเรื่องควรจะแบนหรือไม่แบนสารเคมีดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติห้ามสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดไม่ให้มีการใช้อีกต่อไป โดยห้ามนําเข้า จําหน่าย หรือครอบครองตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป แต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่กลับมีมติให้ขยายเวลาการห้ามใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ส่วนไกลโฟเสตให้ใช้ต่อไปภายใต้การควบคุมและจํากัดการใช้ มติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จึงมีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะขอเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าสารเคมีทั้งสามตัวคืออะไร

ไกลโฟเสต เป็นสารกําจัดหญ้าและวัชพืชชนิดต่างๆ ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ใน shikimate pathway ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างกรดอะมิโนที่จําเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ phenylalanine, tyrosine และ tryptophan ส่วนใหญ่ไกลโฟเสตจะดูดซึมทางใบแล้วกระจายไปในส่วนต่างๆ ของพืชรวมทั้งราก มีฤทธิ์ทําให้พืชหยุดการเติบโตได้รวดเร็ว ไกลโฟเสตจะยับยั้งเฉพาะการเจริญเติบโต แต่ไม่ยับยั้งการงอกของเมล็ดพืช

พาราควอต เป็นสารกําจัดหญ้าและวัชพืชเช่นกัน ออกฤทธิ์โดยยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช มีจุดเด่นคือ ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว ทนต่อการชะล้างด้วยน้ำหรือฝน และเมื่อถูกกับดิน ฤทธิ์ของสารจะลดลง จึงนิยมใช้กําจัดหญ้าและวัชพืนในการทําไร่ทํานาที่ไม่มีการไถพรวนดิน

คลอร์ไพรีฟอส เป็นสารฆ่าหนอนและแมลง จัดอยู่ในกลุ่ม organophosphate ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยยับยั้งเอนไซม์ที่มีชื่อว่า acetylcholinesterase กรมวิชาการเกษตรแนะนําให้ใช้กําจัดหนอนและแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยจักจั่น ผีเสื้อข้าวเปลือก ด้วงงวงข้าว ด้วงงวงข้าวโพด มอดแป้ง หนอนเจาะฝัก หนอนหน้าแมว แมลงดําหนาม และด้วงงวงในกล้วย

นอกจากเป็นสารกําจัดศัตรูพืชดังกล่าวข้างต้น ในอีกด้านหนึ่งสารเคมีทั้งสามชนิดกลับมีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม คือ ทําให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์หลายอย่าง เช่น องค์การอนามัยโลกเตือนว่าไกลโฟเสตอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง โดยพบว่าสัมพันธ์กับการสัมผัสสารนี้ในการทําเกษตรกรรม และยังมีหลักฐานว่าไกลโฟเสตสามารถทําให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง สํานักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ว่าในสหรัฐอเมริกาบริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายไกลโฟเสตกําลังเผชิญกับคดีฟ้องร้องราว 42,700 คดีที่กล่าวหาบริษัทว่าไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็งต่อพวกเขา สําหรับพาราควอตจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับสาร ผิวหนังเป็นแผลพุพอง หากสัมผัสกับตาจะทําให้ตาบวมแดงอักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง หากบริโภคจะทําให้เกิดอาการระคายเคืองลําคอปอด และหายใจไม่ออก และส่งผลต่อการทํางานของตับ ในประเทศโลกที่สามนิยมใช้พาราควอตเป็นยาพิษสําหรับการฆ่าตัวตาย เนื่องจากเป็นสารพิษที่มีจําหน่ายทั่วไปและราคาไม่แพง ส่วนคลอร์ไพรีฟอสเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก ผิวหนัง และจากการสูดดม ทําให้มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมากกว่าปกติ หากรุนแรงจะหมดสติ หายใจลําบาก และหยุดหายใจ นอกจากทําให้คนเจ็บป่วย สารเคมีทั้งสามชนิดยังทําให้เกิดภาวะสารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อมและอาหาร เนื่องจากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ในปริมาณมากเกินไป เช่น คลอร์ไพรีฟอสหากถูกชะล้างปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำก็จะเป็นพิษต่อปลา หากใช้ในระยะที่พืชมีดอกกําลังจะบานก็จะเป็นพิษต่อผึ้ง หากใช้ไม่ระมัดระวังก็จะเป็นพิษต่อตัวห้ำและตัวเบียนซึ่งเป็นแมลงที่สามารถช่วยกําจัดแมลงอื่นๆ ที่เป็นแมลงศัตรูพืชได้ หากไม่เว้นระยะเวลาก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังพ่นสารครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 7-14 วัน ก็จะทําให้สารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ ภาวะที่สารพิษปนเปื้อนและตกค้างเช่นนี้ ในระยะยาวจะมีผลทําให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ได้อีกด้วย

โรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ รวมทั้งภาวะสารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เองทําให้เกิด มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม ที่มีผลห้ามสารเคมีทั้งสามชนิดไม่ให้มีการนําเข้าจําหน่าย และครอบครอง แต่หลังจากนั้นมีความเคลื่อนไหวคัดค้านมตินี้อย่างรุนแรงด้วยเหตุผลต่างๆ เป็นต้นว่า ถ้าหากยกเลิกสารทั้งสามชนิดแล้วจะให้เกษตรกรใช้อะไรทดแทนสารเคมีอื่นที่ไม่ถูกห้ามก็มีประสิทธิภาพน้อยกว่าและราคาแพงกว่า จะให้จัดการสารเคมีที่เหลืออยู่ในสต็อกเป็นจํานวนมากอย่างไร สารฆ่าวัชพืชก็ไม่ได้ใช่ว่าจะตกค้างในอาหารได้ง่ายๆ อย่างที่กลัวกัน เพราะหากเกษตรกรฉีดพ่นสารโดนพืชผักมันก็จะตายเช่นเดียวกับวัชพืช ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ทําหนังสือคัดค้านการห้ามสารไกลโฟเสตว่าจะทําให้พืชบางอย่างเช่น ถั่วเหลืองไม่สามารถนําเข้ามาขายในไทยได้ ประเด็นนี้ทําให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เกรงว่าจะขาดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต จึงร่วมกันคัดค้านการห้ามสารเคมีทั้งสามชนิดเช่นกัน จนในที่สุดจึงมีมติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ดังกล่าวในตอนต้น

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 ไกลโฟเสต
02 คลอร์ไพรีฟอส
03 พาราควอต
04 มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม
05 มติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน
06 โรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์
07 สารกําจัดหญ้าและวัชพืช
08 สารเคมีทางการเกษตร
09 สารฆ่าหนอนและแมลง
10 สารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

บทความที่ 2 – PM2.5 ภัยร้ายใกล้ตัว

ช่วงแรกของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 คนไทยได้สัมผัสกับอากาศหนาวเย็นอยู่หลายวัน แต่ในขณะเดียวกันภัยตัวน้อยๆ คือฝุ่นละอองที่เรียกกันว่า PM2.5 ก็คืบคลานเข้ามาก่อปัญหาอย่างเงียบๆ เนื่องจาก PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ จึงขอสรุปประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ PM2.5 จากสื่อต่างๆ และจากบทความของหัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่ในเวปไซต์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ประเด็นที่จะกล่าวถึงได้แก่ PM2.5 คืออะไร มีแหล่งที่มาจากไหนบ้าง ระดับที่ผลกระทบต่อมนุษย์คือมากน้อยเพียงใด และจะมีวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร

PM ย่อมาจากคําว่า Particulate Matter หมายถึงอนุภาคหรือวัตถุที่มีขนาดเล็กมาก ส่วนตัวเลข 2.5 หมายถึงขนาดของอนุภาคที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 ไมโครเมตรลงมา PM2.5 จะแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆเนื่องจากมันมีขนาดเล็กจึงสามารถนําพาสารต่างๆ ล่องลอยในอากาศรอบตัวเราได้ ถ้ามีมากจะทําให้เห็นเป็นหมอกควัน PM2.5 และสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมันเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์คือระดับที่เกินค่ามาตรฐาน องค์การอนามัยโลกกําหนดค่ามาตรฐานไว้เป็น 3 ระดับตามค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง คือระดับ 1, 2 และ 3 มีค่ามาตรฐานเท่ากับ 75, 50 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลําดับ สําหรับประเทศไทยกรมควบคุมมลพิษชี้แจงว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กําหนดให้ค่ามาตรฐานระดับ 2 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในบ้านเรา

ขณะเขียนบทความนี้หลายพื้นที่ในประเทศมีค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์เช่นนี้จะทําให้เกิดโรคได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมากจนสามารถผ่านลงไปได้ลึกถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อถุงลมและหลอดลมย่อย (Bronchiole) รวมทั้งยังสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ความเสียหายที่เกิดต่อปอดเป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบต้านอนุมูลอิสระ รบกวนดุลแคลเซียมจนทําให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ ดังนั้นจึงทําให้คนเป็นโรคต่างๆ ได้ ดังนี้

  • ทําให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหืด
  • ทําให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ในระยะยาวส่งผลให้การทํางานของปอดถดถอย ทําให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทําให้เป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น

สําหรับแหล่งที่มาที่สําคัญของ PM2.5 คือมาจากการก่อสร้างและจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ เช่น จากการเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม จากเครื่องยนต์ของยานพาหนะในท้องถนน และจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม PM2.5 จะสะสมในบรรยากาศได้ง่ายขึ้นถ้าฝุ่นกระจายออกไปนอกพื้นที่ได้น้อยลง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงต้นปีมักมีการเผาวัชพืชกันมากและตัวเมืองมีภูเขาล้อมรอบ จึงเป็นแอ่งกระทะที่ขัง PM2.5 ไว้ได้ง่าย ส่วนในกรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายปีถึงต้นปี ฝุ่นจะถูกขังอยู่ในพื้นที่ได้ง่ายเนื่องจากลมอับและมีตึกสูงจํานวนมาก

สําหรับแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหานั้นจําเป็นต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน ได้แก่ มาตรการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมให้คนนิยมเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น เพิ่มรถไฟฟ้า เพิ่มรถโดยสารประจําทาง ลดราคาค่าโดยสาร รวมทั้งใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์และมีเครื่องมือดักจับอนุภาคที่หลงเหลือไม่ให้กระจายตัวออกมา ถัดมาคือมาตรการควบคุมการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด รื้อถอนและทําลายสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วอย่างถูกวิธี และอีกมาตรการที่สําคัญคือห้ามการเผาพื้นที่เพื่อทําเกษตรกรรม ตลอดจนการเผาป่าและการเผาขยะ โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มาตรการเหล่านี้จะสามารถลด ป้องกัน หรือยับยั้งไม่ให้ปริมาณ PM2.5 สูงถึงระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ รวมทั้งสามารถลดหรือป้องกันความเจ็บป่วยซึ่งก็คือโรคต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น

ในกรณีที่มาตรการที่กล่าวมาไม่ได้ผล คือยังมี PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เราต้องรู้จักป้องกันตนเอง คือหากเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรังก็ไม่ควรออกนอกบ้าน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่เรียกว่า N95 ซึ่งสามารถดักจับอนุภาคขนาดจิ๋วได้ถึง 0.3 ไมโครเมตร โดยต้องสวมให้ถูกต้องคือให้กระชับกับรูปหน้า สําหรับคนทั่วไปที่จําเป็นต้องออกนอกบ้านอย่างน้อยให้ใส่หน้ากากอนามัยธรรมดาซึ่งยังพอกรองอนุภาคขนาดประมาณ 2 – 3 ไมโครเมตรได้ แค่ต้องใส่ให้ถูกต้องเช่นกัน คือหันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันกว่าออกด้านนอก และปรับขอบที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงให้เข้ารูปกับด้านบนของจมูก

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
12 กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
13 การป้องกันและแก้ไขปัญหา
14 การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม
15 ควบคุมการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด
16 ถุงลมโป่งพอง
17 ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ PM2.5
18 ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์
19 ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว
20 แหล่งที่มา

เฉลย

บทความที่ 1 – ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
01 ไกลโฟเสต 06A 07D 10A
02 คลอร์ไพรีฟอส 06A 09D 10A
03 พาราควอต 06A 07D 10A
04 มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม 01F 02F 03F
05 มติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน 04F
06 โรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ 04A
07 สารกําจัดหญ้าและวัชพืช 99H
08 สารเคมีทางการเกษตร 01D 02D 03D
09 สารฆ่าหนอนและแมลง 99H
10 สารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อม 04A 06A

บทความที่ 2 – PM2.5 ภัยร้ายใกล้ตัว

เลขกำกับ ข้อความที่กำหนด ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ
11 กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม 99H
12 กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 99H
13 การป้องกันและแก้ไขปัญหา 15D 19D
14 การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม 99H
15 ควบคุมการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด 12F 16F 18F
16 ถุงลมโป่งพอง 99H
17 ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ PM2.5 13D 18D 20D
18 ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ 12A 16A
19 ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว 12F 16F 18F
20 แหล่งที่มา 11D 14D

Leave a Reply

Thumbnails managed by ThumbPress