ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
คะแนนเต็ม 150 คะแนน เวลาในการทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
บทความที่ 1 – การล่วงละเมิดทางเพศ … ภัยใกล้ตัวสตรี
การล่วงเกินหรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรีเป็นปัญหาที่มีมานาน ข่าวครึกโครมที่สะเทือนสังคมในช่วงที่ผ่านมาคือการข่มขืนฆ่าเด็กหญิงในขบวนรถไฟแล้วโยนศพทิ้งข้างทาง และข่าวการข่มขืนฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่จริง ความหมายของการล่วงละเมิดทางเพศประกอบด้วยการกระทำหลายอย่าง ไม่ได้จำกัดเฉพาะการข่มขืนกระทำชำเรา หรือข่มขืนฆ่าดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำอนาจารตั้งแต่เบาไปหาหนัก เช่น การล่วงเกินทางเพศด้วยท่าที ท่าทาง คำพูด หรือด้วยสายตา ตลอดจนการกระทำที่ส่อเจตนาล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่ การถูกเนื้อต้องตัว การแตะต้องลูบคลำบริเวณของสงวน การกอดจูบ เป็นต้น นอกจากนี้ การล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกิดกับผู้หญิงเท่านั้น แม้ผู้ชายก็ถูกกระทำได้ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเหตุปัจจัยและแนวทางป้องกันแก้ไขการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง โดยจะสรุปสาระสำคัญบางประเด็นที่คุณสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงความเห็นเมื่อเร็วๆนี้ในรายการเจาะข่าวเช้านี้ (ช่วงวิเคราะห์เจาะลึก) ของสถานีวิทยุจุฬา ซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี
สำหรับเหตุปัจจัยนั้นมีอยู่หลายอย่าง แต่ละอย่างล้วนมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำที่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการทำอนาจาร การข่มขืนกระทำชำเรา จนรุนแรงถึงขั้นข่มขืนฆ่าดังเหตุการณ์ที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ เหตุโดยพื้นฐานคือ เรื่องค่านิยมทางด้านเพศที่มีทัศนคติว่าผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า อยู่ในอาณัติของผู้ชาย จะกระทำอะไรอย่างไรก็ได้ และเมื่อมีเหตุปัจจัยอื่นประกอบ ได้แก่ สถานที่เอื้ออำนวย เช่น เป็นที่เปลี่ยว แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือประจวบกับโอกาสเหมาะ เช่น ผู้หญิงเดินมาคนเดียว หรือมีสิ่งกระตุ้นจนทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งที่สำคัญคือสุราและยาเสพติด เป็นต้น
การล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในบ้านเรา เป็นเพราะการลงโทษผู้กระทำผิดเบาเกินไปหรืออย่างไร ประเด็นนี้คุณอำนวยมีความเห็นว่า โทษที่กฎหมายกำหนดเหมาะสมแล้ว เพราะโทษขั้นสูงสุดก็คือประหารชีวิต ดังที่ศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิตจำเลยที่ข่มขืนฆ่าเด็กหญิงบนรถไฟ แต่จุดอ่อนในขณะนี้คือ กระบวนการที่จะนำผู้กระทำผิดขึ้นมาถึงศาลยุติธรรม เช่น มีการยอมความกันได้ หรือไกล่เกลี่ยให้ยอมรับเงินตอบแทน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเพิ่มโทษหรือแก้จุดอ่อนดังกล่าวยังนับว่าเป็นการตั้งรับ ที่สำคัญกว่าคือต้องเน้นเรื่องแนวทางการป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น ที่สำคัญคือการปรับปรุงแก้ไขพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้มีสถานที่เอื้ออำนวยต่อการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ เช่น บนรถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ถนนหนทางที่เปลี่ยว มืด แสงสว่างไม่เพียงพอ เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การให้ความรู้เรื่องการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้นว่า ให้รู้ว่าการกระทำอย่างไรเป็นความเสี่ยงหรือเป็นการเอื้ออ้านวยต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การไม่รักนวลสงวนตัว การแต่งกายที่ล่อแหลม การแสดงท่าทีกิริยาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ระมัดระวังที่ส่อถึงการยั่วยุ การเดินบนถนนตรอกซอกซอยที่มืดและเปลี่ยว บริเวณที่ดินหรือตึกรกร้าง โดยเฉพาะเวลากลางคืน
แนวทางการป้องกันทั้งสองประการดังกล่าวนี้ จะช่วยลดปัญหาการกระทำทุกอย่างที่จัดเป็นการล่วงละเมิดทางเพศลงได้
คุณอำนวยย้ำในช่วงท้ายว่า ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ต้องเน้นเรื่องการป้องกัน โดยเริ่มจากจุดเล็กที่สุดคือครอบครัว ให้มีความรู้ในการป้องกัน ให้สื่อสารกันระหว่างสมาชิกครอบครัว ช่วยให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ มีอาชีพ ไม่มียาเสพติดและอบายมุข ชุมชนต้องมีหน่วยงานต่างๆ จัดการให้ความรู้และดูแลให้ทุกพื้นที่มีความปลอดภัย ปราศจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้มีความมั่นใจว่า “ตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรง” ซึ่งกำลังพยายามดำเนินการให้เกิดขึ้นให้ได้ 1000 ตำบลภายในปีงบประมาณ 2558 นี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันแก้ปัญหาความรุนแรง ซึ่งรวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศด้วย
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
01 | การข่มขืนกระทำชำเรา | |||
02 | การข่มขืนฆ่า | |||
03 | การทำอนาจาร | |||
04 | การปรับปรุงแก้ไขพื้นที่เสี่ยง | |||
05 | การให้ความรู้เรื่องการป้องกัน | |||
06 | ความหมายของการล่วงละเมิดทางเพศ | |||
07 | ทัศนคติว่าผู้ชายมีอำนาจมากกว่าเพศหญิง | |||
08 | แนวทางป้องกันแก้ไข | |||
09 | สถานที่เอื้ออำนวย | |||
10 | เหตุปัจจัย |
บทความที่ 2 – ความสุขของคนอาเซียน
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้ดูรายการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเรื่อง ความสุขของคนอาเซียน ซึ่งเคยออกอากาศมาแล้ว รู้สึกแปลกใจว่าทำไมประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง คือสิงคโปร์จึงเป็นประเทศที่มีพลเมืองมีความสุขน้อยที่สุดในโลก ในขณะที่ประเทศเวียดนามซึ่งประชากรมีรายได้น้อยกว่ามากมายหลายเท่าจึงมีความสุขมากที่สุดเป็นหนึ่งของอาเซียนและเป็นอันดับสองของโลก ทำให้รู้สึกข้องใจจนต้องตามไปดูรายการย้อนหลังของไทยพีบีเอส คือรายการ Asean Beyond 2015 ซึ่งออกอากาศครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
ความสุขของคนอาเซียน ที่จะเล่าสู่กันฟังเป็นข้อสรุปของ The Happy Planet Index (HPI) ซึ่งเป็นองค์กรที่สำรวจประชากรโลกแต่ละประเทศว่ามีความสุขมากน้อยเพียงใด ปรากฏว่า 40 อันดับแรกของโลกเป็นประเทศกลุ่มอาเซียนถึง 5 ประเทศ คือเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และลาว โดยอยู่ในอันดับ 2, 14, 20, 24 และ 37 ตามลำดับ แต่ความสุขของคนอาเซียนที่จะกล่าว ในบทความนี้จะไม่ครอบคลุมประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะพูดถึงเฉพาะความสุขของคนสิงคโปร์ และความสุขของคนเวียดนามและคนลาว
เกิดอะไรขึ้นกับความสุขของคนสิงคโปร์ ทำไม HPI จึงสรุปว่าประชากรสิงคโปร์มีความสุขน้อยที่สุด ชาวสิงคโปร์ชื่อ เลียง เซ เฮียง ซึ่งเป็นชายวัยเกษียณอายุจากการทำงาน เจ้าของบล็อกชื่อดังที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยเน้นประเด็นเรื่องคนยากจนและคนไร้บ้าน และมีชาวสิงคโปร์ติดตามงานเขานับล้านคน ให้สัมภาษณ์ทีมงานผู้จัดทำรายการถึงสถานการณ์ของสิงคโปร์ว่ามีคนทำงานราว 2 ล้านคน แต่คนทำงานกว่า 460,000 คนมีรายได้ต่ำ คือต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน คนทำงานชาวสิงคโปร์มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์มากที่สุดในโลก คือ 48 ชั่วโมง ในขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก เพียง 2 สถานการณ์ก็ลดความสุขของคนสิงคโปร์ลงมากมายอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกสถานการณ์หนึ่งคือ คนสิงคโปร์กว่าครึ่งหนึ่งอยู่กับความกลัว ความกลัวที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจคือ กลัวว่าหากล้มป่วยลงจะไม่มีเงินพอเสียค่ารักษาพยาบาล เพราะรัฐบาลจะไม่ช่วยเลย กลัวว่าหากเกษียณอายุจากการทำงานจะไม่มีเงินใช้จ่ายจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะเงินบำนาญเป็นเงินของตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีเงินสมทบจากรัฐบาล ต้องภาวนาว่าอย่าให้ตกงาน อย่าให้เจ็บป่วย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจต้องขายทรัพย์สิน ขายบ้าน กลายเป็นคนไร้บ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้ยังกลัวถูกปรับเงิน เพราะสิงคโปร์เป็นเมืองแห่งการถูกปรับ มีป้ายห้ามกระทำการต่าง ๆ พร้อมบอกค่าปรับมากมาย สูงสุดคือ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ถ้าให้อาหารลิง แท็กซี่ทำผิดกฎจราจรจะถูกปรับครั้งละ 300 ดอลลาร์สิงคโปร์ซึ่งก็คือครึ่งหนึ่งของรายได้แต่ละวัน สถานการณ์แต่ละอย่างที่กล่าวมานี่เองที่บั่นทอนความสุขของคนสิงคโปร์ และทำให้คนสิงคโปร์มีรอยยิ้มน้อยที่สุดในโลก จนรัฐบาลต้องทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนยิ้มให้กัน
ส่วนประเทศเวียดนามและลาวนั้น ถึงแม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP เทียบไม่ได้เลยกับสิงคโปร์ แต่ผู้คนกลับมีความสุขมากกว่าคนสิงคโปร์ จากการติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สัมภาษณ์ครูสอนดนตรีและสอนคณิตศาสตร์ชาวเวียดนาม 2 คน และครูสอนวรรณคดีชาวลาวอีก 1 คน โดยทีมงานผู้ทำรายการ เห็นชัดเจนว่าความสุขของคนเวียดนามและคนลาวมีอยู่ 2 ประการเป็นอย่างน้อย ที่สำคัญคือ ความสุขจากการทำงานที่ชอบ ครูทั้งสามคนเล่าว่ามีความสุขมากขณะที่สอนนักเรียน ได้เห็นนักเรียนเข้าใจและทำได้ในสิ่งที่สอนก็ยิ่งมีความสุข ครูทั้ง 3 คนยืนยันว่ามีความสุขทั้งๆ ที่เงินเดือนค่อนข้างน้อย เมื่อถามว่าทำอย่างไรจึงจะพอค่าใช้จ่าย คำตอบคือครูเวียดนามหารายได้เสริมจากการสอนพิเศษ ส่วนครูลาวได้จากการรับทำพิธี สู่ขวัญในโอกาสต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินโดยปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงไก่ไว้กินไข่
สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั้งสองประเทศ คนในทำงานที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ บอกว่ารู้สึกอิจฉามากเพราะตนเองต้องเร่งรีบออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด เดินทางฝ่าการจราจรอันคับคั่งนานนับชั่วโมงกว่าจะถึงที่ทำงาน ตรงข้ามกับครูลาวท่านนั้น พอตื่นเช้าก็นึ่งข้าวเหนียว เดินตามสบายกับลูกสาวออกจากบ้านซึ่งอยู่ในซอยเล็กๆ มารอตักบาตรที่ริมถนน พอรับพรจากพระเสร็จก็เดินกลับบ้าน ช่วยทำกับข้าวแล้วรับประทานข้าวเช้าร่วมกัน เสร็จแล้วจึงแต่งตัวเดินทางด้วยรถเมล์ไปสอนหนังสือ เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วสรุปได้ว่า ความสุขจากการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย คือความสุขอีกประการหนึ่งของคนเวียดนามและคนลาว
หวังว่าผู้มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ คงได้ข้อคิดบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินชีวิตให้มีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุและปัจจัยภายนอกมากนัก หากท่านสนใจ ผู้เขียนบทความนี้ขอแนะนำให้หาหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องความสุข ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เขียนไว้หลายเล่มมาอ่าน แล้วท่านจะรู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้น
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | คนทำงานกว่า 460,000 คนมีรายได้ต่ำ | |||
12 | คนสิงคโปร์กว่าครึ่งหนึ่งอยู่กับความกลัว | |||
13 | ความสุขของคนเวียดนามและคนลาว | |||
14 | ความสุขของคนสิงคโปร์ | |||
15 | ความสุขของคนอาเซียน | |||
16 | ความสุขจากการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย | |||
17 | ความสุขจากการได้ทำงานที่ชอบ | |||
18 | ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์มากที่สุดในโลก | |||
19 | มีรอยยิ้มน้อยที่สุดในโลก | |||
20 | สถานการณ์ของสิงคโปร์ |
เฉลย
บทความที่ 1 – การล่วงละเมิดทางเพศ … ภัยใกล้ตัวสตรี
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | การข่มขืนกระทำชำเรา | 99H | |||
02 | การข่มขืนฆ่า | 99H | |||
03 | การทำอนาจาร | 99H | |||
04 | การปรับปรุงแก้ไขพื้นที่เสี่ยง | 01F | 02F | 03F | 09F |
05 | การให้ความรู้เรื่องการป้องกัน | 01F | 02F | 03F | |
06 | ความหมายของการล่วงละเมิดทางเพศ | 01D | 02D | 03D | |
07 | ทัศนคติว่าผู้ชายมีอำนาจมากกว่าเพศหญิง | 01A | 02A | 03A | |
08 | แนวทางป้องกันแก้ไข | 04D | 05D | ||
09 | สถานที่เอื้ออำนวย | 01A | 02A | 03A | |
10 | เหตุปัจจัย | 07D | 09D |
บทความที่ 2 – ความสุขของคนอาเซียน
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
11 | คนทำงานกว่า 460,000 คนมีรายได้ต่ำ | 14F | 19A | |
12 | คนสิงคโปร์กว่าครึ่งหนึ่งอยู่กับความกลัว | 14F | 19A | |
13 | ความสุขของคนเวียดนามและคนลาว | 16D | 17D | |
14 | ความสุขของคนสิงคโปร์ | 99H | ||
15 | ความสุขของคนอาเซียน | 13D | 14D | |
16 | ความสุขจากการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย | 99H | ||
17 | ความสุขจากการได้ทำงานที่ชอบ | 99H | ||
18 | ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์มากที่สุดในโลก | 14F | 19A | |
19 | มีรอยยิ้มน้อยที่สุดในโลก | 99H | ||
20 | สถานการณ์ของสิงคโปร์ | 11D | 12D | 18D |