ข้อสอบ ความถนัดทั่วไป (GAT1)
บทความที่ 1 – ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร
สารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่ใช้อย่างแพร่หลายและใช้เป็นจํานวนมากมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพรีฟอส ขณะเขียนบทความนี้กําลังมีประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและโต้เถียงอย่างกว้างขวางคือเรื่องควรจะแบนหรือไม่แบนสารเคมีดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติห้ามสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดไม่ให้มีการใช้อีกต่อไป โดยห้ามนําเข้า จําหน่าย หรือครอบครองตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป แต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่กลับมีมติให้ขยายเวลาการห้ามใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ส่วนไกลโฟเสตให้ใช้ต่อไปภายใต้การควบคุมและจํากัดการใช้ มติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จึงมีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะขอเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าสารเคมีทั้งสามตัวคืออะไร
ไกลโฟเสต เป็นสารกําจัดหญ้าและวัชพืชชนิดต่างๆ ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ใน shikimate pathway ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างกรดอะมิโนที่จําเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ phenylalanine, tyrosine และ tryptophan ส่วนใหญ่ไกลโฟเสตจะดูดซึมทางใบแล้วกระจายไปในส่วนต่างๆ ของพืชรวมทั้งราก มีฤทธิ์ทําให้พืชหยุดการเติบโตได้รวดเร็ว ไกลโฟเสตจะยับยั้งเฉพาะการเจริญเติบโต แต่ไม่ยับยั้งการงอกของเมล็ดพืช
พาราควอต เป็นสารกําจัดหญ้าและวัชพืชเช่นกัน ออกฤทธิ์โดยยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช มีจุดเด่นคือ ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว ทนต่อการชะล้างด้วยน้ำหรือฝน และเมื่อถูกกับดิน ฤทธิ์ของสารจะลดลง จึงนิยมใช้กําจัดหญ้าและวัชพืนในการทําไร่ทํานาที่ไม่มีการไถพรวนดิน
คลอร์ไพรีฟอส เป็นสารฆ่าหนอนและแมลง จัดอยู่ในกลุ่ม organophosphate ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยยับยั้งเอนไซม์ที่มีชื่อว่า acetylcholinesterase กรมวิชาการเกษตรแนะนําให้ใช้กําจัดหนอนและแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย เพลี้ยจักจั่น ผีเสื้อข้าวเปลือก ด้วงงวงข้าว ด้วงงวงข้าวโพด มอดแป้ง หนอนเจาะฝัก หนอนหน้าแมว แมลงดําหนาม และด้วงงวงในกล้วย
นอกจากเป็นสารกําจัดศัตรูพืชดังกล่าวข้างต้น ในอีกด้านหนึ่งสารเคมีทั้งสามชนิดกลับมีโทษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม คือ ทําให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์หลายอย่าง เช่น องค์การอนามัยโลกเตือนว่าไกลโฟเสตอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ คือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง โดยพบว่าสัมพันธ์กับการสัมผัสสารนี้ในการทําเกษตรกรรม และยังมีหลักฐานว่าไกลโฟเสตสามารถทําให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง สํานักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ว่าในสหรัฐอเมริกาบริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายไกลโฟเสตกําลังเผชิญกับคดีฟ้องร้องราว 42,700 คดีที่กล่าวหาบริษัทว่าไกลโฟเสตเป็นสารก่อมะเร็งต่อพวกเขา สําหรับพาราควอตจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับสาร ผิวหนังเป็นแผลพุพอง หากสัมผัสกับตาจะทําให้ตาบวมแดงอักเสบ ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง หากบริโภคจะทําให้เกิดอาการระคายเคืองลําคอปอด และหายใจไม่ออก และส่งผลต่อการทํางานของตับ ในประเทศโลกที่สามนิยมใช้พาราควอตเป็นยาพิษสําหรับการฆ่าตัวตาย เนื่องจากเป็นสารพิษที่มีจําหน่ายทั่วไปและราคาไม่แพง ส่วนคลอร์ไพรีฟอสเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก ผิวหนัง และจากการสูดดม ทําให้มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัวเป็นหย่อมๆ แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า น้ำลายออกมากกว่าปกติ หากรุนแรงจะหมดสติ หายใจลําบาก และหยุดหายใจ นอกจากทําให้คนเจ็บป่วย สารเคมีทั้งสามชนิดยังทําให้เกิดภาวะสารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อมและอาหาร เนื่องจากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ในปริมาณมากเกินไป เช่น คลอร์ไพรีฟอสหากถูกชะล้างปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำก็จะเป็นพิษต่อปลา หากใช้ในระยะที่พืชมีดอกกําลังจะบานก็จะเป็นพิษต่อผึ้ง หากใช้ไม่ระมัดระวังก็จะเป็นพิษต่อตัวห้ำและตัวเบียนซึ่งเป็นแมลงที่สามารถช่วยกําจัดแมลงอื่นๆ ที่เป็นแมลงศัตรูพืชได้ หากไม่เว้นระยะเวลาก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังพ่นสารครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 7-14 วัน ก็จะทําให้สารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ ภาวะที่สารพิษปนเปื้อนและตกค้างเช่นนี้ ในระยะยาวจะมีผลทําให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ได้อีกด้วย
โรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ รวมทั้งภาวะสารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เองทําให้เกิด มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม ที่มีผลห้ามสารเคมีทั้งสามชนิดไม่ให้มีการนําเข้าจําหน่าย และครอบครอง แต่หลังจากนั้นมีความเคลื่อนไหวคัดค้านมตินี้อย่างรุนแรงด้วยเหตุผลต่างๆ เป็นต้นว่า ถ้าหากยกเลิกสารทั้งสามชนิดแล้วจะให้เกษตรกรใช้อะไรทดแทนสารเคมีอื่นที่ไม่ถูกห้ามก็มีประสิทธิภาพน้อยกว่าและราคาแพงกว่า จะให้จัดการสารเคมีที่เหลืออยู่ในสต็อกเป็นจํานวนมากอย่างไร สารฆ่าวัชพืชก็ไม่ได้ใช่ว่าจะตกค้างในอาหารได้ง่ายๆ อย่างที่กลัวกัน เพราะหากเกษตรกรฉีดพ่นสารโดนพืชผักมันก็จะตายเช่นเดียวกับวัชพืช ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ทําหนังสือคัดค้านการห้ามสารไกลโฟเสตว่าจะทําให้พืชบางอย่างเช่น ถั่วเหลืองไม่สามารถนําเข้ามาขายในไทยได้ ประเด็นนี้ทําให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เกรงว่าจะขาดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต จึงร่วมกันคัดค้านการห้ามสารเคมีทั้งสามชนิดเช่นกัน จนในที่สุดจึงมีมติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ดังกล่าวในตอนต้น
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | ||
---|---|---|---|---|
01 | ไกลโฟเสต | |||
02 | คลอร์ไพรีฟอส | |||
03 | พาราควอต | |||
04 | มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม | |||
05 | มติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน | |||
06 | โรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ | |||
07 | สารกําจัดหญ้าและวัชพืช | |||
08 | สารเคมีทางการเกษตร | |||
09 | สารฆ่าหนอนและแมลง | |||
10 | สารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อม |
บทความที่ 2 – PM2.5 ภัยร้ายใกล้ตัว
ช่วงแรกของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 คนไทยได้สัมผัสกับอากาศหนาวเย็นอยู่หลายวัน แต่ในขณะเดียวกันภัยตัวน้อยๆ คือฝุ่นละอองที่เรียกกันว่า PM2.5 ก็คืบคลานเข้ามาก่อปัญหาอย่างเงียบๆ เนื่องจาก PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ จึงขอสรุปประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ PM2.5 จากสื่อต่างๆ และจากบทความของหัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ ซึ่งเผยแพร่ในเวปไซต์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ประเด็นที่จะกล่าวถึงได้แก่ PM2.5 คืออะไร มีแหล่งที่มาจากไหนบ้าง ระดับที่ผลกระทบต่อมนุษย์คือมากน้อยเพียงใด และจะมีวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร
PM ย่อมาจากคําว่า Particulate Matter หมายถึงอนุภาคหรือวัตถุที่มีขนาดเล็กมาก ส่วนตัวเลข 2.5 หมายถึงขนาดของอนุภาคที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2.5 ไมโครเมตรลงมา PM2.5 จะแขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆเนื่องจากมันมีขนาดเล็กจึงสามารถนําพาสารต่างๆ ล่องลอยในอากาศรอบตัวเราได้ ถ้ามีมากจะทําให้เห็นเป็นหมอกควัน PM2.5 และสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมันเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์คือระดับที่เกินค่ามาตรฐาน องค์การอนามัยโลกกําหนดค่ามาตรฐานไว้เป็น 3 ระดับตามค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง คือระดับ 1, 2 และ 3 มีค่ามาตรฐานเท่ากับ 75, 50 และ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลําดับ สําหรับประเทศไทยกรมควบคุมมลพิษชี้แจงว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้กําหนดให้ค่ามาตรฐานระดับ 2 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในบ้านเรา
ขณะเขียนบทความนี้หลายพื้นที่ในประเทศมีค่า PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์เช่นนี้จะทําให้เกิดโรคได้ เพราะมันมีขนาดเล็กมากจนสามารถผ่านลงไปได้ลึกถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อถุงลมและหลอดลมย่อย (Bronchiole) รวมทั้งยังสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ความเสียหายที่เกิดต่อปอดเป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบต้านอนุมูลอิสระ รบกวนดุลแคลเซียมจนทําให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ ดังนั้นจึงทําให้คนเป็นโรคต่างๆ ได้ ดังนี้
- ทําให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหืด
- ทําให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ในระยะยาวส่งผลให้การทํางานของปอดถดถอย ทําให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทําให้เป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
สําหรับแหล่งที่มาที่สําคัญของ PM2.5 คือมาจากการก่อสร้างและจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ เช่น จากการเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม จากเครื่องยนต์ของยานพาหนะในท้องถนน และจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม PM2.5 จะสะสมในบรรยากาศได้ง่ายขึ้นถ้าฝุ่นกระจายออกไปนอกพื้นที่ได้น้อยลง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงต้นปีมักมีการเผาวัชพืชกันมากและตัวเมืองมีภูเขาล้อมรอบ จึงเป็นแอ่งกระทะที่ขัง PM2.5 ไว้ได้ง่าย ส่วนในกรุงเทพมหานคร ในช่วงปลายปีถึงต้นปี ฝุ่นจะถูกขังอยู่ในพื้นที่ได้ง่ายเนื่องจากลมอับและมีตึกสูงจํานวนมาก
สําหรับแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหานั้นจําเป็นต้องใช้หลายมาตรการร่วมกัน ได้แก่ มาตรการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมให้คนนิยมเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เช่น เพิ่มรถไฟฟ้า เพิ่มรถโดยสารประจําทาง ลดราคาค่าโดยสาร รวมทั้งใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์และมีเครื่องมือดักจับอนุภาคที่หลงเหลือไม่ให้กระจายตัวออกมา ถัดมาคือมาตรการควบคุมการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด รื้อถอนและทําลายสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วอย่างถูกวิธี และอีกมาตรการที่สําคัญคือห้ามการเผาพื้นที่เพื่อทําเกษตรกรรม ตลอดจนการเผาป่าและการเผาขยะ โดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มาตรการเหล่านี้จะสามารถลด ป้องกัน หรือยับยั้งไม่ให้ปริมาณ PM2.5 สูงถึงระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ รวมทั้งสามารถลดหรือป้องกันความเจ็บป่วยซึ่งก็คือโรคต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น
ในกรณีที่มาตรการที่กล่าวมาไม่ได้ผล คือยังมี PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน เราต้องรู้จักป้องกันตนเอง คือหากเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรังก็ไม่ควรออกนอกบ้าน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่เรียกว่า N95 ซึ่งสามารถดักจับอนุภาคขนาดจิ๋วได้ถึง 0.3 ไมโครเมตร โดยต้องสวมให้ถูกต้องคือให้กระชับกับรูปหน้า สําหรับคนทั่วไปที่จําเป็นต้องออกนอกบ้านอย่างน้อยให้ใส่หน้ากากอนามัยธรรมดาซึ่งยังพอกรองอนุภาคขนาดประมาณ 2 – 3 ไมโครเมตรได้ แค่ต้องใส่ให้ถูกต้องเช่นกัน คือหันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันกว่าออกด้านนอก และปรับขอบที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงให้เข้ารูปกับด้านบนของจมูก
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม | ||||
12 | กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด | ||||
13 | การป้องกันและแก้ไขปัญหา | ||||
14 | การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม | ||||
15 | ควบคุมการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด | ||||
16 | ถุงลมโป่งพอง | ||||
17 | ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ PM2.5 | ||||
18 | ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ | ||||
19 | ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว | ||||
20 | แหล่งที่มา |
เฉลย
บทความที่ 1 – ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
01 | ไกลโฟเสต | 06A | 07D | 10A | |
02 | คลอร์ไพรีฟอส | 06A | 09D | 10A | |
03 | พาราควอต | 06A | 07D | 10A | |
04 | มติคณะกรรมการฯ วันที่ 22 ตุลาคม | 01F | 02F | 03F | |
05 | มติคณะกรรมการฯ วันที่ 27 พฤศจิกายน | 04F | |||
06 | โรคและความเจ็บป่วยในมนุษย์ | 04A | |||
07 | สารกําจัดหญ้าและวัชพืช | 99H | |||
08 | สารเคมีทางการเกษตร | 01D | 02D | 03D | |
09 | สารฆ่าหนอนและแมลง | 99H | |||
10 | สารพิษปนเปื้อนและตกค้างในสิ่งแวดล้อม | 04A | 06A |
บทความที่ 2 – PM2.5 ภัยร้ายใกล้ตัว
เลขกำกับ | ข้อความที่กำหนด | ที่ว่างสำหรับร่างรหัสคำตอบ | |||
---|---|---|---|---|---|
11 | กระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม | 99H | |||
12 | กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด | 99H | |||
13 | การป้องกันและแก้ไขปัญหา | 15D | 19D | ||
14 | การเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม | 99H | |||
15 | ควบคุมการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด | 12F | 16F | 18F | |
16 | ถุงลมโป่งพอง | 99H | |||
17 | ประเด็นที่ควรรู้เกี่ยวกับ PM2.5 | 13D | 18D | 20D | |
18 | ระดับที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ | 12A | 16A | ||
19 | ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว | 12F | 16F | 18F | |
20 | แหล่งที่มา | 11D | 14D |